วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ท่าทีของท่านเราะซูล(ซ.ล.) ต่อพวก “นะซอรอ” (คริสเตียน)



ท่าทีของท่านเราะซูล ต่อพวก “นะซอรอ” (คริสเตียน)
          ชาวคริสเตียนที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรอาหรับนั้นมีจำนวนน้อย ชาวคริสเตียนได้อยู่รวมกันที่เมืองนัจญ์รอน ซึ่งมีชาวอาหรับบางเผ่าที่อยู่ติดกับประเทศชามได้เข้ารับนับถือศาสนาคริสต์ เพราะอยู่ห่างไกลจากการแต่งตั้งนะบีในช่วงปีแรก และไม่ปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งกันระหว่างพวกเขากับมุสลิมแต่อย่างใด
          กษัตริย์แห่งเอธิโอเปีย เป็นชาวคริสเตียนที่มีน้ำใจงดงาม มีจิตใจเมตตาต่อมุสลิมที่อพยพไปอยู่ที่นั่นและมีความยุติธรรม หลังจากที่อิสลามมีความเข้มแข็งขึ้น ภายหลังที่ได้พิชิตเมือง “คอยบัร” และเมืองมักกะฮ์แล้ว ท่านเราะซูล ได้เริ่มทำการเผยแพร่ศาสนาอิสลามไปทั่วคาบสมุทรอาหรับ และบริเวณโดยรอบ ท่านเราะซูล เริ่มส่งสาส์นไปยังกษัตริย์ของเมืองต่างๆ เรียกร้องเชิญชวนให้ผู้นำเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม และนี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กับชาว คริสเตียน
ชาวคริสเตียน “นัจญ์รอน”
          ท่านเราะซูล ได้ส่งสาส์นไปถึง “อัซก็อฟ” ผู้นำแห่งนัจญ์รอนเพื่อเรียกร้องเชิญชวนให้เข้ารับศาสนาอิสลาม ผู้ปกครองนัจญ์รอนได้ปรึกษาหารือกับคณะที่ปรึกษา โดยให้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจากับท่านนะบีมุฮัมมัด และไปสืบเรื่องราวทั้งหมด เมื่อคณะผู้แทนได้เข้าไปพบท่านเราะซูล และได้เจรจาถึงปัญหาในประเด็นต่างๆ ท่านเราะซูล  ได้ตอบข้อซักถามในประเด็นปัญหาเหล่านั้น จนกระทั่งพวกเขาได้ถามถึงท่านนะบีอีซา อะลัยฮิสสลาม  ท่านนะบี กล่าวว่า :
ماعندي فيه شيئ يومي هذا
          “ฉันยังไม่มีคำตอบใด ๆ เกี่ยวกับเขา (อีซา)ในวันนี้...”
          เช้าวันรุ่งขึ้น ท่านนะบี ได้ไปพบพวกเขา และอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานคำตอบลงมาให้แก่ท่านในเรื่องเกี่ยวกับท่านนะบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ดังดำรัสของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่ว่า :
          “แท้จริง อุปมาอีซา ณ ที่อัลลอฮ์ อุปมัยดั่งอาดัม พระองค์ทรงบังเกิดเขาขึ้นมาจากดิน ต่อมาพระองค์ได้ทรงประกาศิตแก่เขาว่า จงเป็นขึ้นมาเถิด แล้วเขาก็เป็นขึ้นมา”   ( อาละอิมรอน 3 : 59 )                                                       
          แต่พวกคริสต์ไม่ยอมรับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับท่านนะบีอีซา อะลัยฮิสสลาม ท่านเราะซูล จึงให้พวกเขาทำการขอดุอาอ์สาปแช่งกัน(มุบาฮะละฮ์) ตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในอายะฮ์ที่ 2  แต่คณะผู้แทนของ“นัจญ์รอน” กลัวการลงโทษจากการสาปแช่ง (มุบาฮะละฮ์) จะเกิดขึ้น จึงไม่ตอบรับคำขอของท่านเราะซูล และยอมจ่ายภาษีคุ้มครอง(ญิซยะฮ์)ให้ และให้กำหนดจำนวน“ญิซยะฮ์” ที่จะต้องจ่ายให้ด้วย ท่านเราะซูล จึงส่งสาส์นไปพร้อมกับคณะผู้แทนเพื่อส่งมอบให้กับผู้ครองเมือง “นัจญ์รอน” โดยกำหนดจำนวน “ญิซยะฮ์” ที่จะต้องจ่ายเป็น  “ฮุลละฮ์” (เสื้อคลุมยาว) 2,000 ชุดต่อปี เมื่อคณะผู้แทนเดินทางกลับยังเมือง“นัจญ์รอน” เพียงระยะเวลาหนึ่ง “อัซก็อฟ” ผู้ปกครองเมืองนัจญ์รอนได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเดินทางมายังเมืองมะดีนะฮ์ และพำนักอยู่กับท่านเราะซูล  พวกเขาได้ยินอัลกุรอานที่ถูกประทานลงมาให้แก่ท่านเราะซูล เมื่อพวกเขาเดินทางกลับ ท่านเราะซูล  ส่งสาส์นยืนยันความปลอดภัยต่อสิ่งที่พวกเขาได้แก้ไขปรับปรุงและแสดงความบริสุทธิ์ใจ ได้มีคริสเตียน“นัจญ์รอน” จำนวนหนึ่งเข้ารับศาสนาอิสลามก่อนที่ท่านเราะซูล จะเสียชีวิต (*1*)
ชาวคริสเตียนทางภาคเหนือ
          กลุ่มนี้เป็นตัวแทนที่อยู่ในประเทศโรมัน และเป็นตัวแทนชาวอาหรับที่มีความสัมพันธ์กับพวกโรมัน เริ่มมีการสู้รบกับมุสลิมขณะที่พวกคริสเตียนได้สังหารทูตที่ทำหน้าที่ถือสาส์นไปเผยแพร่ และบางกลุ่มเข้าไปท้าทายยั่วยุให้หน่วยทหารที่ส่งไปทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนามีความโกรธ(*2*) ด้วยเหตุนี้ ท่านเราะซูล จึงส่งตัวแทน และ“ซะรอยา” (กองทหารซึ่งมีจำนวน 5 นายถึง 300 นาย) ไปยังชาวคริสต์เพื่อตอบโต้ในสิ่งที่พวกเขาได้กระทำไว้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแพร่ศาสนาอิสลามภายนอกคาบสมุทรอาหรับ เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่สาส์นให้บรรลุความเป็นจริง ในปีที่ 8 แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช ท่านเราะซูล ได้ส่งกองกำลังทหารจำนวน 3,000 นายไปเผชิญหน้ากับพวกโรมันที่ “มุอ์ตะฮ์” ในครั้งนั้นทำให้ผู้ที่ท่านเราะซูล แต่งตั้งให้บัญชาการรบคนที่หนึ่ง คนที่สองและคนที่สาม ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางจากเมืองมะดีนะฮ์ ทำหน้าที่ต่อเนื่องตามลำดับ และแม่ทัพทั้งสามได้ตายเป็นชะฮีดทั้งหมด และในปีที่ 9 ท่านเราะซูล มีคำสั่งให้ซอฮาบะฮ์เดินทางไปทางทิศเหนือพร้อมกับท่าน ในนามของหน่วยทหาร“อัลอุซเราะฮ์” หรือหน่วยทหารสงครามตะบู๊ก หน่วยทหาร“อัลอุซเราะฮ์” ได้เรียกความน่าเกรงขาม  และเกียรติภูมิของมุสลิมกลับคืนมา โดยที่พวกโรมันและเผ่าอาหรับบางกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ มิได้ลุกขึ้นมาเผชิญหน้าต่อต้านมุสลิมเหมือนอย่างที่ได้เคยลุกขึ้นมาต่อต้านที่สมรภูมิ “มุอ์ตะฮ์” ต่อมาท่านเราะซูล  ได้ส่งกองกำลังทหารออกปราบปรามชนเผ่าอาหรับบางกลุ่มที่อยู่ที่นั่น และทำสัญญาประนีประนอมกับกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มเหล่านั้น (*3*)
          ก่อนที่ท่านเราะซูล จะเสียชีวิตเล็กน้อย ท่านได้เตรียมกองทหารเพื่อไปทำสงครามกับพวกโรมัน โดยแต่งตั้งให้ท่าน “อุซามะฮ์” เป็นผู้บัญชาการรบ แต่ท่านเราะซูล ได้เสียชีวิตก่อนที่กองทหารจะเคลื่อนทัพออกจากมะดีนะฮ์ และเมื่อท่านอบูบักร เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้ขึ้นเป็นคอลีฟะฮ์ (ผู้ปกครอง) ท่านจึงได้ดำเนินตามแนวทางที่ท่านเราะซูล ได้กำหนดไว้

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน



  1. จากรายละเอียดต่าง ๆ ของคณะผู้แทนนัจญ์รอน ดูในหนังสือของ “ดะลาอิล อันนุบูวะฮฺ” เล่ม 5 หน้า 385 – 391 อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ ของท่านอิบนุ กะซี๊รฺ เล่ม 4 หน้า 100 – 108 และฮะดีษที่เกี่ยวกับ “อัลมุบาฮะละฮฺ” ที่มีปรากฎอยู่ในซ่อฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์     บทที่ว่าด้วยเรื่อง “อัลมะฆอซีย์” เรื่อง คณะผู้แทนนัจญ์รอน
  2. เช่นการสังหารทูตของท่าน  ร่อซูล คือท่าน อัลฮาริส อิบนุ อุมัยรฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ที่ได้ถูกส่งไปยังผู้ปกครองเมืองบุศรอฺ ในหนังสือ“อุซุดุลฆอบะฮ์” ของอิบนิ อะซี๊ร์ เล่ม 1 หน้า 341 และพวกเขาได้สังหารกลุ่มบุคคลที่ท่านร่อซูล แต่งตั้งไปโดยการนำของท่านกะอ์บฺ อิบนิ อุบัยย์ (ดูในอัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ ของอิบนิ กะซี๊รฺ เล่ม 3 หน้า 454  จากท่านอัลวากิดีย์
  3. เช่นได้ทำสัญญาประนีประนอมกับกษัตริย์ “อัยละฮฺ” ดูซ่อฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ บทที่ว่าด้วยเรื่องภาษีหัว ( อัลญิซยะฮฺ) ภาค เมื่ออิมามอำลา  เลขฮะดีษที่  3

ท่าทีของท่านเราะซูล(ศ็อลฯ)ต่อยะฮูด ที่“คอยบัร”


ท่าทีของท่านเราะซูล(ศ็อลฯ)ต่อยะฮูด ที่“คอยบัร”
          หลังจากที่พวกยิว(ยะฮูด)ได้ถอนตัวออกไปจากเมืองมะดีนะฮ์ เมืองคอยบัรได้กลายเป็นศูนย์กลางของยะฮูดในคาบสมุทรอาหรับ บรรดาผู้นำกลุ่มต่างๆ ของยะฮูดที่หนีจากเมืองมะดีนะฮ์จึงไปอยู่ที่เมืองคอยบัร พวกเขาได้เริ่มวางแผนที่จะจัดการกับศาสนาอิสลาม จึงคิดทำสงครามเพื่อทำลายล้างเมืองมะดีนะฮ์ โดยตั้งใจที่จะโจมตีมุสลิมทีเดียวพร้อมๆกัน
          เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากที่ท่านนะบี ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมกับพวกกุเรชที่ตำบล ฮุดัยบียะฮ์ ต่อจากนั้นจึงมุ่งหน้าไปเมืองคอยบัร ในปีที่ 7 กองกำลังมุสลิมได้ปิดล้อมเมืองคอยบัร และทำการพิชิตเมืองคอยบัร โดยได้เข้าไปจัดการป้อมปราการทีละป้อม  หลังจากที่มีการสู้รบกันอย่างหนัก ในที่สุดพวกยิวได้ยอมจำนนและยอมปฏิบัติตามคำตัดสินของท่านเราะซูล ที่ให้พวกเขาถอนตัวออกไปจากเมืองคอยบัร(*1*) แต่เนื่องจากเมืองคอยบัร อุดมสมบูรณ์ไปด้วยการเกษตรและการค้า และมุสลิมไม่สามารถไปสร้างหลักปักฐานแทนที่พวกยะฮูดได้ เพราะมีภารกิจในการช่วยเหลืองานเผยแพร่ศาสนาและต่อสู้ป้องกันศาสนา

          ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงให้พวกยะฮูดอยู่ทำการเกษตรตามคำร้องขอ โดยที่จะต้องแบ่งครึ่งหนึ่งของผลผลิตให้กับมุสลิม(*2*) และมุสลิมมีสิทธิที่จะให้ออกจากพื้นที่เพาะปลูกเมื่อมีความจำเป็น พวกยะฮูดได้อาศัยอยู่ที่นั่นเรื่อยมาจนถึงยุคสมัยของ ท่านอุมัร อิบนุ ค็อฏฏ๊อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ   โดยที่ท่านต้องการให้พวกยิวออกไปเนื่องจากมีความจำเป็นบังคับ
          หลังจากพิชิตคอยบัรได้แล้ว ยะฮูดที่เหลือในคาบสมุทรอาหรับจึงเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของท่านนะบี  เช่น ยะฮูด ฟะดัก ยะฮูด ตัยมาอ์ และยะฮูด กุรอ การปฏิบัติได้เหมือนกับที่ได้ปฏิบัติกับยะฮูด คอยบัร  (*3*)
 
          พวกยิว(ยะฮูด)สามารถที่จะอาศัยอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์และคาบสมุทรอาหรับได้อย่างสงบสุข และปลอดภัย หากปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับมุสลิมอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และแสดงเจตนารมณ์ที่ดีให้เห็นชัดเจน แต่เพราะความอิจฉาริษยาความเครียดแค้นที่มีต่อท่านนะบี ผู้มีเมตตา ผู้มีเกียรติ  และศาสนาอิสลาม กลับทำให้พวกเขามองไม่เห็นความจริงในเรื่องราวต่างๆ  ตั้งแต่วินาทีแรกที่มีการติดต่อสัมพันธ์กับท่านนะบี  จนวินาทีสุดท้าย
          ท่านหญิงซอฟียะฮ์ บินติ ฮุยัยย์ อิบนุ อัคต็อบ ได้บอกไว้ว่า : หลังจากที่เข้ารับอิสลามและสมรสกับท่านนะบี  ฮุยัยย์ อิบนุ อัลค๊อฏฏ๊อบ อัลนะฎีรีย์ บิดาของเธอ และพี่น้องบิดา คือ อบู ยาซิร อิบนุ อัคต็อบ ได้มาหาท่านนะบี ที่เมืองมะดีนะฮ์  ต่อมาคนทั้งสองจึงเดินทางกลับมาในสภาพอ่อนเปลี้ยหมดแรง เท้าของคนทั้งสองแทบจะประคองตัวไม่ไหวอันเนื่องจากประจักษ์ว่า ท่านนะบี นั้นเป็นนะบี  ที่แท้จริง 
          ท่านหญิงซอฟียะฮ์ได้กล่าวอีกว่า ฉันได้ยิน อบู ยาซิร ลุงของฉันพูดกับฮุยัยย์ บิดาของฉันว่า :
          เขาคือนะบีใช่ไหม?     
ฮุยัยย์ กล่าวตอบว่า :
          ใช่แล้ว ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
อบู ยาซิร กล่าวว่า :
          ท่านรู้จักเขาและยืนยันใช่ไหมว่าเขาเป็นนะบี?
ฮุยัยย์ ตอบว่า :
          ฉันยืนยันได้ 
อบู ยาซิร ถามต่อไปว่า :
          ในใจของท่านคิดอย่างไรกับเขา ?
ฮุยัยย์ กล่าวตอบว่า :
          เป็นศัตรูของฉันนะซิ ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ว่า ความเป็นศัตรูคงมีอยู่ตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่ (*4*)
 
          ฮุยัยย์  เป็นศัตรูอย่างรุนแรงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับท่านเราะซูล เมื่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้ทำการจับกุมตัวเขาพร้อมกับยะฮูด บะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์” และขณะที่นำตัวมาเพื่อประหารชีวิต ท่านเราะซูลได้เห็นฮุยัยย์  ท่านได้กล่าวว่า :
أما والله مالمت نفسي في عداوتك ولكنه من يخذل الله يخذل
          ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ว่า  ฉัน (มุฮัมมัด) ไม่ตำหนิตัวของฉันในการเป็นศัตรูกับท่าน แต่ทว่าใครก็ตามที่ทอดทิ้งอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เขาจะถูกทอดทิ้งอย่างแน่นอน  (*5*)
ท่านฆ่อซาลีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮ์ (*6*) ได้กล่าวถึงสาเหตุการเป็นศัตรูของพวกยะฮูดต่อมุสลิมไว้ว่า :
          แท้จริง มีคำอธิบายสำหรับเหตุการณ์นี้ คือ ความสัมพันธ์ของพวกยะฮูดต่อศาสนาของพวกเขาต้องขาดสะบั้นลง และวิถีทางในการดำเนินชีวิตไม่ได้เชื่อมโยงติดต่อกับมรดกแห่งฟากฟ้า (คัมภีร์แห่งพระเจ้า) อีกต่อไป พวกเขาไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความสนใจต่อสิ่งที่ใกล้เคียงกับ “อะกีดะตุ๊ตเตาว์ฮีด” (หลักเอกภาพ) หรือบทบัญญัติต่างๆที่มีอยู่ในเตาร๊อต และหลักอะกีดะฮ์ที่มีได้ปรากฏอยู่ตรงหน้า พวกเขาใช้อารมณ์เป็นใหญ่ และรักที่จะเกาะติดอยู่กับสิ่งที่พวกเขารักตลอดไป ณ จุดนี้เองทำให้พวกเขาสงสัยในคุณค่าของอัลกุรอาน การอีมาน(ศรัทธา) ที่ได้กล่าวไว้
          และเมื่อได้ถูกกล่าวแก่เขาเหล่านั้นว่า จงศรัทธาต่อสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานลงมาเถิด พวกเขาก็กล่าวว่า เรากำลังศรัทธาต่อสิ่งที่ได้ถูกประทานลงมาแก่เราอยู่แล้ว และพวกเขาปฏิเสธศรัทธาต่อสิ่งอื่นจากนั้น ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นคือ ความจริง โดยยืนยันสิ่งที่มีอยู่กับพวกเขา(มุฮัมมัด) จงกล่าวเถิดว่า เพราะเหตุใด เมื่อก่อนพวกท่านจึงได้ฆ่า นะบีของอัลลอฮ์ ถ้าหากพวกท่านเป็นผู้ศรัทธา?     (อัลบะเกาะเราะฮ์  91)
          อัลฆ่อซาลีย์ กล่าวว่า :
          กลุ่มต่าง ๆ ของพวกยะฮูดที่อาศัยร่วมกับชาวอาหรับ เป็นกลุ่มกองโจรรับจ้างที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาซึ่งระบบเศรษฐกิจ เมื่อรู้สึกถึงความอยากได้และความละโมบเป็นความคิดที่ผิดพลาด จึงกล่าวว่า กลุ่มของพวกเขาจะต้องจบสิ้นไม่เหลืออะไร และได้เปิดเผยการปฏิเสธศรัทธาที่ปกปิดซ่อนเร้นเอาไว้ออกมาอย่างชัดเจน แล้วมันก็คือการปฏิเสธศรัทธาต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  และปฏิเสธศรัทธาต่อบรรดาเราะซูลของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา นั่นเอง


ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน



  1. จากการพิชิตคอยบัร ดูหนังสือซีเราะฮฺ อิบนุ ฮิชาม เล่ม 3 หน้า 378 และหน้าหลังจากนั้น
  2. ซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ บทที่ว่าด้วยเรื่อง สมรภูมิ ภาคที่ว่าด้วยการปฏิบัติกับชาวคอยบัรของท่านนบี เล่มที่ 40 ซอฮี๊ฮฺ มุสลิม บทที่ว่าด้วยเรื่อง อัลมุซาก้อตุ ภาค อัลมุซาก้อตุ อัลมุอามะละติ (กิจกรรมร่วมกันในส่วนของอินทผลัมและพืชผล
  3. อัลบะลาซีรีย์ ในหนังสือฟุตุ้ฮฺอัลบุลดาน หน้า 42 – 47 อิบนุ กอยยิม ซาดัลมะอ๊าด เล่ม 1 หน้า 405
  4. ซีเราะฮฺ อิบนุ ฮิซาม เล่ม 2 หน้า 140 – 141  รายงานเรื่องนี้จาก อิบนิ อิสฮาก
  5. ซีเราะฮฺอิบนิ ฮิชาม เล่ม 3หน้า 260 อัซซีเราะฮฺ อัลนะบะวียะฮฺ ของอิบนิ กะซี๊รฺ เล่ม 3 หน้า 239 รายงาน อิบนิ  อิสฮาก
  6. ฟิกฮุซ ซีเราะฮฺ หน้า  261-262

ท่าทีท่านเราะซูล(ซ.ล.) ที่มีต่อพวกยิวที่ผิดคำสัญญา


ท่าทีท่านเราะซูล ที่มีต่อพวกยิวที่ผิดคำสัญญา
          พวกยิว (ยะฮูด) เป็นผู้สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามท่านนะบีมุฮัมมัด ขณะที่ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเราะซูล เพราะพวกเขารู้ดีว่าการมาปรากฏของนะบีท่านสุดท้ายตามคำกล่าวในคัมภีร์ของชาวยิวใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งพวกเขารู้ลักษณะต่างๆของท่านเราะซูลเป็นอย่างดี แต่เมื่อปรากฏว่าเราะซูลนั้นมิใช่บุคคลที่มาจากชนชาวยิว พวกเขาจึงปฏิเสธไม่ยอมเข้ารับศาสนาของมุฮัมมัด และได้ปกปิดความจริงที่รู้มา เพราะความอิจฉาริษยาที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแค่การปกปิดความจริงเท่านั้นพวกเขายังเบี่ยงเบนประเด็นข้อเท็จจริง ขณะที่พวกกุเรชถามผู้นำของยิวบางคนถึงความเกี่ยวข้องของพวกเขากับท่านนะบีมุฮัมมัด เขาตอบว่า :
 
          “พวกท่านดีกว่าและอยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงกว่ามุฮัมมัด   
อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จึงได้ประทานอายะฮ์นี้ลงมาว่า :
          “เจ้า (มุฮัมมัด) มิได้เห็นบรรดาผู้ที่ได้รับส่วนหนึ่งจากคัมภีร์ดอกหรือ?โดยที่พวกเขาศรัทธาต่อ “อัลญิบติ” (เจว็ด) และ “อัฏ-ฏอฆู๊ต” (ชัยฎอนหรือทุกสิ่งที่ถูกเคารพกราบไหว้อื่นจากอัลลอฮ์) และกล่าวกับบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธาว่า พวกเขาเหล่านี้แหละเป็นผู้อยู่ในแนวทางที่เที่ยงตรงกว่าบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย”  (อันนิซาอ์  4 : 51)
          พวกเขาได้ยื่นคำถามให้พวกกุเรชถามท่านนะบีมุฮัมมัด เพื่อสร้างความอึดอัดใจให้แก่ท่านนบีมุฮัมมัด (*1*) และเมื่อท่านเราะซูล เดินทางมาถึงเมืองมะดีนะฮ์ ท่านได้แสดงความสุภาพอ่อนโยน เอ็นดูเมตตาสงสารต่อพวกยะฮูดอย่างเปิดเผย และปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นอย่างดี และเปิดกว้างเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุผลสำเร็จ ท่านเราะซูล ได้เซ็นสัญญาสงบศึกกับชาวยิว พวกยะฮูดที่เซ็นสัญญาก็เพื่อให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ภายในหัวใจนั้น พวกเขารอคอยโอกาสและหาช่องทางที่จะขจัดมุสลิมให้หมดสิ้นไปจากเมืองมะดีนะฮ์ พวกยิวได้แสดงออกถึงความอิจฉาริษยาต่ออิสลาม และบรรดามุสลิมด้วยรูปแบบต่างๆ เช่น การดูถูกเหยียดหยาม การเยาะเย้ย สร้างความคลุมเครือและความสงสัยให้เกิดขึ้น พยายามปลุกความเป็นพรรคพวกนิยมระหว่างชาวอาหรับที่เมืองมะดีนะฮ์ขึ้นมาใหม่ และสนับสนุนให้มีขบวนการตีสองหน้า(นิฟ๊าก) โดยที่มีบางคนเข้ารับอิสลามเพื่อโกหกและหลอกลวง แล้วออกมาจากอิสลาม เพื่อสร้างความสงสัยให้เกิดแก่ผู้คนต่อศาสนาของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
ดังที่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงกล่าวถึงพวกนั้นไว้ว่า :
           “และ กลุ่มหนึ่งจากหมู่ชนที่ได้รับคัมภีร์กล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่บรรดาผู้ที่ศรัทธาในตอนเริ่มต้นของกลางวัน (เช้าตรู่) และจงปฏิเสธศรัทธาในช่วงสุดท้ายของมัน(เย็น) เพื่อพวกเขาจะได้กลับใจ”( อาละอิมรอน 3 : 72 )
                                                                                                      
          แต่ท่านเราะซูล ยังคงยึดมั่นอยู่กับสัญญาที่ทำไว้กับพวกยะฮูดจนการละเมิด กลายมาเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างโจ่งแจ้ง และในที่สุดพวกยิวได้ทำผิดสัญญาที่ทำไว้ และท่าทีของท่านร่อซูล ที่มีต่อพวกยะฮูด สามกลุ่ม ที่ได้ทำผิดสัญญา
วงศ์วานของยิว “กอยนุก็ออ์”
          ชัยชนะของมุสลิมที่ได้รับในสงครามบัดร์ได้สร้างความเจ็บปวดขึ้นในหัวใจของพวกยะฮูด ที่อยากจะให้มุสลิมได้รับความหายนะ ยะฮูดบนีย์ก็อยนุก็ออ์ได้เปิดเผยความอิจฉา ความเกลียดชังที่อยู่ในใจออกมาอย่างชัดเจน หลังจากสงครามบัดร์ผ่านไป  ด้วยเหตุนี้ท่านเราะซูล จึงได้เรียกพวกเขามาประชุมกัน ณ ที่ตลาด (ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวม) และท่านเราะซูล ได้กล่าวขึ้นว่า :
يَامَعْشَرَ يَهُوْد اِحْذَرُوْا مِنَ اللهِ مثل ما نـزل بِقُرَيْشٍ مِنَ النِّقْمَةِ  ، وَأَسْلِمُوا فإِنَّكُمْ قَدْ عَرَفْتُمْ أنِّي نَبِيٌّ مُرْسَلٌ :  تَجِدُوْنَ ذَلِكَ فِي كِتَابِكُمْ وَعَهْدِ اللهِ إِلَيْكُمْ  :  قَالُوْا يَا مُحَمَّدُ  إِنَّكَ تَرَى أَنَّا قَوْمكَ لاَ يَغُرَّنَّكَ أَنَّكَ لَقِيْتَ قَوْمًا لاَ عِلْمَ لَـهُمْ بِالْحَرْبِ فَأَصَبْتَ مِنْهُمْ فُرْصَةً ، وَإِنَّا وَاللهِ لَئِنْ حَارَبْنَاكَ لَتَعْلَمَنَّ أَنَّا نَحْنُ النَّاس
          “โอ้ชาวยิวทั้งหลาย พวกท่านจงระวังการลงโทษจากอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มันเหมือนกับโทษที่ลงมาประสบกับพวกกุเรช จงเข้ารับศาสนาอิสลามเถิด เพราะพวกท่านรู้อยู่แล้วว่า แท้จริง ฉันนั้นคือนะบีที่ถูกส่งมา พวกท่านรู้ว่าเรื่องนี้มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของพวกท่านอยู่แล้ว”
พวกยะฮู๊ดกล่าวว่า :
          “มุฮัมมัดเอ๋ย ท่านก็รู้ว่าเราเป็นพวกพ้องของท่าน ท่านอย่าได้หลอกตัวเองเลย ท่านได้เจอกับพวกที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องสงคราม ท่านจึงได้ประสบกับชัยชนะจากพวกเขา เราขอสาบานต่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ว่า แน่นอน หากพวกเราทำสงครามกับท่านละก็ ท่านจะได้รู้ว่าเรานั้นเป็นมนุษย์พันธุ์แท้” (*2*)
   
          นี่เป็นคำขู่ของพวกยิวที่มีต่อท่านเราะซูล แต่ท่านยังคงนิ่งเฉย จนกระทั่งยิวคนหนึ่งได้ล่วงเกินสตรีผู้ศรัทธา(มุมินะฮฺ) ในขณะที่นางไปในตลาดของพวกยะฮูด นางได้นั่งลงที่ช่างทำทอง พวกเขาต้องการให้นางเปิดผ้าคลุมหน้าออก นางปฏิเสธไม่ยอมเปิดหน้า ยิวผู้เป็นช่างทำทองผู้นั้นจึงใช้เล่ห์กลอันชั่วร้าย โดยผูกชายผ้าของเธอมาวางไว้บนหลัง เมื่อเธอลุกขึ้นยืนจึงทำให้ เอาเราะฮ์(สิ่งที่พึงสงวนและปกปิด) ของเธอต้องเผยออกมาให้เห็น แล้วพวกยะฮูดต่างหัวเราะชอบใจกัน เธอจึงร้องตะโกนเสียงดังขึ้น ทันใดนั้นมีมุสลิมคนหนึ่งกระโดดเข้าไปและได้สังหารยิวคนนั้น แล้วพวกยะฮูดก็เข้ามารุมทำร้ายและฆ่ามุสลิมคนนั้นจนตาย หลังจากนั้น ความเลวร้ายจึงเกิดขึ้นระหว่างมุสลิมกับยะฮูดีย์ (*3*)
บะนีย์ “กอยนุก็ออ์”ถอนตัวออกไป
          เหตุการณ์ที่เกิดจากยะฮูด บะนีย์ “กอยนุก็ออ์” นั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดข้อสัญญาที่มีต่อกัน ท่านเราะซูล จึงได้นำซอฮาบะฮ์ไปปิดล้อมพวกเขา และทำสงครามเป็นเวลา 15 คืน ในที่สุดพวกยิวจึงยอมจำนน และตกอยู่ภายใต้การปกครองของท่านนะบี  ในเหตุการณ์ครั้งนี้ อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุบัยย์ อิบนุ์ ซะลูล พวกที่ตีสองหน้าของพวกยะฮูด ได้เข้ามาอ้อนวอนให้ปล่อยพวกยิวไป ท่านเราะซูล จึงกล่าวว่า : (هم لك) “พวกเขาเป็นกรรมสิทธิของท่าน” 
          แล้วเขา(อับดุลลอฮ์)จึงให้ พวกยะฮูด บะนีย์ “กอยนุก็ออ์” ออกจากเมืองมะดีนะฮ์ไปอยู่ที่ประเทศชาม(*4*)   จากพฤติกรรมของ    อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุบัยย์  อิบนิ ซะลูล    อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงประทานอายะฮ์ต่อไปนี้ลงมา คือ :
          โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงอย่าได้ยึดเอาพวกยะฮูด (ยิว) และพวกคริสต์มาเป็นมิตร(เพราะ)บางส่วนของพวกเขานั้น คือ มิตรของอีกบางส่วน และผู้ใดในหมู่พวกเจ้าเอาพวกเขามาเป็นมิตรแล้วไซร้ แน่นอน ผู้นั้นก็เป็นคนหนึ่งในพวกเขา แท้จริง อัลลอฮ์ นั้นไม่ทรงแนะนำกลุ่มชนที่ก่ออธรรม
          แล้วเจ้าจะได้เห็นบรรดาผู้ที่ในหัวใจของพวกเขามีโรค(กลับกลอกตีสองหน้า)ต่างรีบเร่งกันไปอยู่ในหมู่พวกเขา โดยกล่าวว่า กลัวว่าภัยพิบัติจะเวียนมาประสบกับพวกเรา หวังว่าอัลลอฮ์ จะทรงนำมาซึ่งชัยชนะหรือไม่ก็นำเอาพระบัญชาอย่างหนึ่งอย่างใดจากที่พระองค์มา แล้ว(ในที่สุด)พวกเขาก็กลายเป็นผู้ที่เสียใจกับสิ่งที่พวกเขาได้ปกปิดไว้ในใจของพวกเขา
  ( อัลมาอิดะฮ์ 51-52)

บะนีย์ “อันนะฏี๊ร์” ละเมิดข้อสัญญา
          หลังจากสมรภูมิบัดร  พวกยะฮูด บะนีย์ “อันนะฏี๊ร” ได้แสดงอาการอิจฉาริษยาเกลียดชังมุสลิมอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะ กะอ์บ บิบนิ้ล อัชร็อฟ หลังจากสมรภูมิบัดร เขาได้เดินทางไปยังนครมักกะฮ์ เพื่อแสดงความเสียใจและเป็นขวัญกำลังใจให้กับชาวกุเรช ที่ประสบกับเคราะห์กรรมในสนามรบ กะอ์บ บิบนิ้ล อัชร็อฟ ได้กล่าวคำกลอนรำพึงรำพันให้แก่พวกกุเรชที่เสียชีวิต และยุยงให้ทำสงครามกับมุสลิมอีก ด้วยเหตุนี้ท่านเราะซูล จึงสั่งให้สังหารเขา ท่านกล่าวว่า :
((مَن للكعب بن الأشرف  فإنه قد آذى الله ورسوله صلى الله عليه وسلم  ))
          “ใครจะเป็นคนจัดการ กะอ์บฺ บิบนิ้ล อัชร็อฟ เพราะเขาได้ทำร้ายอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  และเราะซูล ของพระองค์”
          เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่ง บรรดาซอฮาบะฮ์จึงจัดการตามคำสั่ง(*5*) แต่การกระทำของกะอ์บ บิบนิ้ล อัชร็อฟ เป็นการกระทำส่วนบุคคล ท่านเราะซูล จึงมิได้ลงโทษ บะนีย์ “นะฏี๊ร”  ทั้งหมด และการตายของ กะอ์บ บิบนิ้ล อัชร็อฟ ส่งผลทำให้พวกยิวเกรงกลัวต่อท่านเราะซูล จึงทำข้อตกลงขึ้นมาใหม่  โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติตามข้อตกลงครั้งก่อนที่ได้ทำไว้ที่นครมะดีนะฮ์ แต่พวก บะนีย์ “นะฏี๊ร” ยังมีความอิจฉาริษยาและเคียดแค้นต่อท่านนะบี พวกเขาจึงผิดสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ และได้ทำการติดต่อในทางลับกับชาวกุเรช เพื่อสนับสนุนให้แข็งข้อกับมุสลิม อีกทั้งได้ส่งสัญญาณให้พวกกุเรชรู้ถึงจุดอ่อนของมุสลิม และหยิบยื่นการช่วยเหลือให้กับพวกกุเรชอีกด้วย(*6*)
   
          พวกบะนีย์ “นะฏี๊ร” พยายามลอบสังหารท่านเราะซูล ขณะที่เดินทางไป เพื่อเจรจาในการจ่ายค่าชดเชย(ดิยะฮ์)ให้แก่ญาติของผู้ที่ถูกสังหารโดยซอฮาบะฮ์ท่านหนึ่งซึ่งมิได้มีเจตนาในการฆ่า พวกเขาได้ร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้ทำร่วมกัน บะนีย์ “นะฏี๊ร” ขอให้ท่านนะบี นั่งรออยู่ข้างกำแพงบ้าน แล้วได้เข้าไปวางแผนที่จะลอบสังหารท่าน โดยใช้โอกาสขณะที่ท่านเราะซูล กำลังทำการตกลง โดยให้คนหนึ่งนำหินก้อนใหญ่โยนลงมาเพื่อสังหารท่าน แต่อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ได้ทรงวะฮีย์ (ดลใจ)ให้ท่านเราะซูล รับรู้แผนชั่วนั้น ท่านจึงรีบลุกขึ้นเดินทางกลับไปยังมะดีนะฮ์ แล้วสั่งให้บรรดาซอฮาบะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม  ออกเดินทางเพื่อทำสงครามกับพวกบะนีย์ “ นะฎี๊ร” 
          มุสลิมได้เดินทางไปปิดล้อมเผ่า บะนีย์ “นะฏี๊ร” ท่านเราะซูล สั่งให้พวกเขามาทำสัญญาใหม่ แต่พวกเขากลับปฏิเสธไม่ยอมทำตาม ท่านเราะซูล จึงทำสงคราม จนในที่สุดพวกเขาก็ยอมจำนน  ท่านจึงสั่งให้พวกเขาถอนตัวออกไปจากเมืองมะดีนะฮ์ โดยมีสิทธิ์ที่จะนำเอาสัมภาระติดตัวไปเท่าที่อูฐบรรทุกได้   พวกเขาจึงบรรทุกสัมภาระต่างๆ เท่าที่สามารถจะบรรทุกมันไว้บนหลังอูฐ  และได้ทำลายข้าวของอื่นๆ ที่มีอยู่ในบ้าน เพื่อมิให้มุสลิมนำเอามาใช้ประโยชน์ได้อีก   บางคนในพวกบะนีย์ “นะฎี๊ร”  ไปอยู่ที่เมืองคอยบัร  บางคนไปอยู่ที่เมืองชาม 
          เหตุการณ์ครั้งนั้นได้เกิดขึ้นปีที่ 4  แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช(*7*) เรื่องของบะนีย์  “อันนะฎีร”  อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ประทานซูเราะฮ์ อัลฮัซริ  ลงมา

ยะฮูด บะนีย์“กุรอยเซาะฮ์”ผิดสัญญา
          การละเมิดสัญญาของพวกบะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์” เกิดขึ้นในช่วงที่มีภาวะคับขัน  มุสลิมกำลังเตรียมการเพื่อสกัดกั้นและขัดขวางพวกมุชริกีนที่กำลังปิดล้อมเมืองมะดีนะฮ์ ซึ่งมีกำลังพล 10,000 นาย  การละเมิดสัญญาข้อตกลงมีสาเหตุจากการปลุกปั่นของยะฮูด บะนีย์ “นะฎีร”  หลังจากที่ถูกขับออกจากเมืองมะดีนะฮ์ ได้มีการติดต่อกันระหว่างผู้นำของบะนีย์ “นะฎีร์” คือ ยะฮ์ยา อิบนุ อัคฏ็อบ  กับ กะอ์บ อิบนุ อะซัด  ผู้นำของบะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์”  ผู้นำบะนีย์ “นะฎีร์” ได้ยุยงผู้นำของ  บะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์” จนคล้อยตามและเห็นด้วยในการละเมิดสัญญา จึงยินดีเข้าร่วมทำสงครามต่อต้านและทำลายล้างมุสลิม เมื่อมุสลิมได้ทราบถึงแผนการณ์นั้นได้มีความกังวลและเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่บรรดาสตรีและเด็กๆ แต่ท่านเราะซูล  มีแผนการที่รัดกุม โดยการกระจายหน่วยลาดตระเวนรอบๆ เมืองมะดีนะฮ์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังภายในเมืองมะดีนะฮ์  เมื่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงจัดการให้กลุ่มมุชริกีนได้รับความพ่ายแพ้ จึงมีคำบัญชาจากอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา มาถึงท่านนะบี ให้มุ่งหน้าไปจัดการกับพวกยิวบะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์” ทันที  ท่านเราะซูล มีคำสั่งให้บรรดาซอฮาบะฮ์เคลื่อนกำลังไปประชิดพวกนั้นโดยเร็ว ท่านได้กล่าวว่า :

لاَيُصَلِّيَنَّ أَحَدٌ الْعَصْرَ إِلاَّ فِي بَنِي قُرَيْظَة
          “ใครก็ตามอย่าได้ทำละหมาด อัลอัศริ (ระหว่างทาง) เป็นอันขาด จนกว่าจะได้ไปถึงบะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์” เสียก่อน”  (*8*)
 
          เมื่อไปถึงกองกำลังมุสลิมได้เตรียมพร้อมอยู่หน้าป้อมของบะนีย์  “กุรอยเซาะฮ์” และปิดล้อมเป็นเวลา 25 คืน จนในที่สุดพวกเขาจึงยอมจำนนและยอมอยู่ภายใต้การปกครองของท่านเราะซูล  และขอให้แต่งตั้ง ซะอ์ด อิบนุ มุอ๊าซ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ  เป็นผู้พิพากษาตัดสิน  ซึ่งพวกเขาหวังว่าซะอ์ด อิบนุ มุอ๊าซ คงผ่อนปรนคำตัดสินในฐานะที่เคยมีข้อตกลงกันระหว่างฝ่ายเขากับฝ่ายซะอ์ด อิบนุ มุอ๊าซ เหมือนดังที่อับดุลลอฮ์ อิบนุ อุบัยย์ อิบนิ ซะลูล เคยทำให้บะนีย์ “กอยนุก็ออ์”    ท่านเราะซูล  จึงรับข้อเสนอและเรียกซะอ์ดให้มาพบ เมื่อซะอ์ด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เข้ามาจึงได้พิพากษาตัดสินด้วยการประหารชีวิตนักรบยิว ส่วนลูกหลานให้ตกเป็นเชลย และทรัพย์สินแบ่งออกเป็นส่วนๆ ท่านเราะซูล กล่าวกับซะอ์ดว่า :
قَضَيْتَ بِحُكْمِ اللهِ
          “ท่านได้ตัดสินให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แล้ว ”  (*9*) 
                                                                              
          เพื่อปฏิบัติตามคำตัดสิน จึงมีการกักกันพวกยะฮูดและได้ขุดคันคูขึ้นในเมืองมะดีนะฮ์ พวกเขาถูกนำตัวมาเป็นกลุ่มๆ และผู้ที่ถูกประหารชีวิตมีจำนวนถึง 400 คน   บางทัศนะว่ามีมากกว่านั้น(*10*)  มีผู้ที่เปลี่ยนเข้ารับศาสนาอิสลาม(*11*) และผู้ที่ได้รับความคุ้มครองจากซอฮาบะฮ์ซึ่งพวกเขาจะไม่ถูกประหารชีวิต(*12*) สำหรับทรัพย์สินของบะนีย์ “นะฎีร” ได้ถูกจัดสรรปันส่วนในหมู่มุสลิม
การลงโทษ ยิวบะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์”
          โทษที่บะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์”ได้รับนั้นเป็นการลงโทษที่รุนแรง แต่ความรู้สึกดังกล่าวได้หมดไปเมื่อมองดูด้วยใจเป็นธรรมและเป็นกลาง จากสถาณการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ;
  1. การละเมิดสัญญาของบะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์”ได้ปรากฏขึ้นหลังจากที่รับรู้ถึงการลงโทษกับกลุ่มยะฮูดต่างๆ ก่อนที่จะเกิดกับพวกเขา ทั้งนี้เพราะพวก  บะนีย์ “กอยนุก็ออ์” และบะนีย์ “นะฎีร์”ได้รับโทษด้วยเหตุจากการละเมิดสัญญาข้อตกลง และเป็นการเตือนให้ระวังว่าอย่าได้กระทำเช่นนั้น แต่พวกเขาไม่ได้รับประโยชน์อันใดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่นำมาเป็นอุทาหรณ์ ฉะนั้นการลงโทษต่อผู้ที่ได้รับการตักเตือนให้ระวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย่อมต้องหนักกว่าผู้ที่ได้รับการเตือนให้ระวังเพียงครั้งเดียว
  2. บะนีย์   “กุรอยเซาะฮ์” ได้ทำผิดสัญญาสองอย่างด้วยกัน
     -
    ความผิดที่หนึ่ง การไม่ใส่ใจกับข้อตกลงที่ทำกันไว้กับมุสลิม ว่าด้วยการร่วมมือป้องกันเมืองมะดีนะฮ์ หากมีศัตรูเข้ามารุกราน
     - ความผิดที่สอง เป็นความผิดที่ร้ายแรงยิ่งกว่าในข้อแรก เพราะไม่เพียงแต่เพิกเฉยไม่ยอมร่วมมือป้องกันมะดีนะฮ์ ซ้ำยังสนับสนุนศัตรูและให้ความร่วมมือในการโจมตีมุสลิมอีกด้วย ฉะนั้นการลงโทษจึงรวมความผิดทั้งสองข้อไว้ด้วยกัน ซึ่งย่อมรุนแรงและเจ็บปวดมากกว่าผู้ที่ทำความผิดเพียงข้อเดียว
  3. การทำผิดสัญญาของบะนีย์กุรอยเซาะฮ์เกิดขึ้นในขณะที่มุสลิมกำลังตกอยู่ในสถาณการณ์ที่คับขัน ถ้าหากไม่ใช่การดูแลเอาใจใส่ของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และการช่วยเหลือของพระองค์ที่มีต่อบรรดาผู้ศรัทธาแล้ว เหตุการณ์ที่เลวร้ายคงเกิดขึ้นกับมุสลิม ด้วยเหตุนี้โทษฑัณฑ์ที่พวกบะนีย์“กุรอยเซาะฮ์” ได้รับนั้นเหมาะสมและคู่ควรแก่สิ่งพวกเขาได้วางแผนไว้ และการลงโทษจึงเป็นสิ่งเดียวกับที่พวกเขาได้คิดเอาไว้
  4. เมื่อซะอ์ด อิบนุ มุอ๊าซ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นผู้ออกคำตัดสินลงโทษพวกบะนีย์”กุรอยเซาะฮ์” ที่ทำผิดถือเป็นกฎหมายข้อบังคับของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่กำหนดไว้ ดังที่ท่านนะบี ได้ยืนยันให้ทราบขณะที่ท่านได้พูดกับซะอ์ด ว่า ;
قَضَيْتَ بِحُكْمِ اللهِ
             “ท่านได้ตัดสินไปตามบัญญัติของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แล้ว”
          และใครเล่าจะตัดสินได้ยุติธรรมและดียิ่งไปกว่าอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา  ซึ่งพระองค์ทรงรู้ดียิ่งถึงเจตนารมณ์ของพวกยะฮูด อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงรู้ถึงคำตัดสินที่เหมาะสมกับความผิดที่พวกเขาได้ก่อขึ้น และไม่มีสิทธิที่จะคัดค้านคำตัดสินของผู้ตัดสินที่ดีที่สุด(อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)  ด้วยการจัดการขั้นเด็ดขาดกับพวกยะฮูดบะนีย์ “กุรอยเซาะฮ์” และบะนีย์  “กอยนุก็ออ์” และบะนีย์ “นะฎีร์” ได้อพยพออกไปทำให้มุสลิมในเมืองมะดีนะฮ์ รู้สึกสบายใจ โดยไม่ต้องคอยระวังศัตรูที่คอยหาโอกาสเพื่อเข้าห้ำหั่นมุสลิมอยู่ตลอดเวลา 


ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน



  1. ซุนัน อัตติรมิซีย์ เล่ม 4 หน้า 366  ฮะดีษที่ 5148
  2. ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม  เล่ม 2 หน้า 426
  3. ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม หน้า 2427
  4. อ้างแล้ว  ในอัลมัซดัรฺ อัซซาบิ๊ก หน้า427-428 ฏ่อบะก็อต อิบนิ ซะอ์ดฺ เล่ม 2 หน้า92
  5. ซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ บทที่ว่าด้วย สงครามต่างๆ ภาคการสังหาร กะอ์บฺ บิบนิ อัชร็อฟ หน้า 15
  6. มะฮฺดีย์ ร่อซะกัลลอฮฺ อัซซีเราะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ     หน้า 418
  7. จากการถอนตัวออกไปจากมะดีนะฮฺของพวกบะนีย์ “นะฎี๊รฺ” ดู ซ่อฮี๊ฮฺ  อัลบุคอรีย์ บทที่ว่าด้วยเรื่อง สงครามต่างๆ ภาคฮะดีษ บะนีย์ “อันนะฎี๊รฺ” ฮะดีษที่  14  ซีเราะฮฺ อิบนิ ฮิชาม เล่มที่  3 หน้า 191    อัลบัยฮะกีย์  ดะลาอิล – อัลนุบูวะฮฺ เล่มที่ 3  หน้า 181-182
  8. ซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์ บทที่ว่าด้วยเรื่อง อัลมะฆอซีย์ ภาคที่ 30 สงครามบะนีย์ กุรอยเซาะฮ์
  9. อ้างแล้ว  อัลมัซดัร  อัซซาบิก ในบทและภาคเดียวกัน
  10. จากการรายงานต่างๆที่ระบุถึงจำนวนผู้ถูกประหารชีวิต ดูในหนังสือของ อิบนุ ฮะญะริน ฟัตฮุลบารีย์  เล่ม 7 หน้า 414 ดูหนังสือของ    มะฮฺดีย์ ร่อซะกัลลอฮิ อัซซีเราะฮฺ  อันนะบะวีย์ยะฮฺ หน้า  461
  11. ซอฮี๊ฮฺ อัลบุคอรีย์  บทอัลมะฆอซีย์  ภาคฮะดีษ บะนีย์นะฎี๊รฺ เลขที่ 14
  12. ซีเราะฮฺ อิบนุ ฮิชาม  เล่ม 3  หน้า 261 – 263