วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การสารภาพผิด

 การสารภาพผิด

قال تعالى : ((وَمَنْ يَعْمَلْ سُوءاً أَوْ يَظْلِمْ نَفْسَهُ ثُمَّ يَسْتَغْفِرِ اللَّهَ يَجِدِ اللَّهَ غَفُوراً رَحِيمًا))
سورة النساء الآية 110

ความว่า “และผู้ใดกระทำชั่วหรืออธรรมแก่ตัวเอง แล้วเขาขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ แน่นอนเขาจะพบว่าอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงอภัยโทษยิ่งผู้ทรงเมตตายิ่ง”  ซูเระฮฺอันนิซาอฺ อายะฮฺที่ 110

ศรัทธาชนผู้มีเกียรติทุกท่าน อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงบันดาลสร้างมนุษย์และสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมา และสักวันหนึ่งทุกสรรพสิ่งล้วนจะต้องกลับคืนสู่พระองค์ โดยที่วันนั้นทรัพย์สิน ลูกหลานและบริวารไม่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ใดได้เลย นอกจากผู้ที่กลับไปหาพระองค์พร้อมด้วยหัวใจอันผ่องแผ้ว กล่าวคือสะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากการตั้งภาคีต่อพระองค์
 ในยามที่อยู่ในโลกดุนยานี้ มนุษย์ทุกคนล้วนมีโอกาสพลั้งพลาดด้วยกันทั้งสิ้น และบุคคลที่พลั้งพลาดซึ่งอิสลามยกย่องนั้นก็คือ ผู้ที่สารภาพผิดและขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา พระองค์พร้อมที่จะให้อภัยแก่เขาเสมอ  ดั่งที่ปรากฎอยู่ในโองการข้างต้น นอกจากนี้พระองค์ยังตรัสไว้อีกว่า

قال تعالى : ((وَهُوَ الَّذِي يَقْبَلُ التَّوبَةَ عَنْ عِبَادِهِ وَيَعْفُو عَنِ السَّيِّئَاتِ وَيَعْلَمُ مَا تَفْعَلُونَ))
سورة الشورى الآية 25
ความว่า “และพระองค์คือผู้ทรงรับการสารภาพผิดจากบ่าวทั้งหลายของพระองค์ และทรงอภัยบาปทั้งหลาย อีกทั้งทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” ซูเราะฮฺอัชชูรอ อายะฮฺที่ 25
 อาจมีคำถามเกิดขึ้นในใจของใครบางคนว่า ถ้าหากบุคคลหนึ่งกระทำผิดและละเมิดศีลธรรมอันดีของศาสนาไว้อย่างมากมาย อัลลอฮฺ ตะอาลา จะทรงอภัยโทษให้เขาหรือไม่  เรื่องนี้เรามาศึกษาคำสอนของท่านนบี ศ๊อลลั่ลลอฮู่อะลัยฮี่วะซั่ลลัม ร่วมกันและเราจะพบว่า

عَنْ ابْنِ عَبَّاسٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا أَنَّ نَاسًا مِنْ أَهْلِ الشِّرْكِ كَانُوا قَدْ قَتَلُوا وَأَكْثَرُوا وَزَنَوْا وَأَكْثَرُوا ، فَأَتَوْا مُحَمَّدًا صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ ، فَقَالُوا : إِنَّ الَّذِي تَقُولُ وَتَدْعُو إِلَيْهِ لَحَسَنٌ ، لَوْ تُخْبِرُنَا أَنَّ لِمَا عَمِلْنَا كَفَّارَةً ، فَنَزَلت : ((وَالَّذِينَ لا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَهًا آخَرَ وَلا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلا بِالْحَقِّ وَلا يَزْنُونَ)) وَنَزَلَتْ : ((قُلْ يَا عِبَادِيَ الَّذِينَ أَسْرَفُوا عَلَى أَنْفُسِهِمْ لا تَقْنَطُوا مِنْ رَحْمَةِ اللَّهِ))
متفق عليه

ความว่า เล่าจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส ร่อฎิยั่ลลอฮู่อันฮู่มา กล่าวว่า ประชาชนที่เป็นผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ พวกเขาเคยสังหารชีวิตผู้คนจำนวนมากมาย  และพวกเขาเคยละเมิดศีลธรรมทางเพศอย่างมากมาย พวกเขาเหล่านั้นได้มาหาท่านนบีมู่ฮำมัด ศ๊อลลั่ลลอฮู่อะลัยฮี่วะซั่ลลัม และกล่าวว่า
“แทัจริงพระเจ้าที่ท่านกล่าวถึงและเชิญชวนผู้คนไปสู่การสักการะต่อพระองค์นั้นดียิ่ง มาดแม้นท่านบอกพวกเราว่าพฤติกรรมที่พวกเราเคยประพฤติปฏิบัตินั้นจะมีสิ่งที่จะมาลบล้าง  และแล้วมีโองการอัลกุรฺอานถูกประทานลงมาว่า
((وَالَّذِينَ لا يَدْعُونَ مَعَ اللَّهِ إِلَهًا آخَرَ وَلا يَقْتُلُونَ النَّفْسَ الَّتِي حَرَّمَ اللَّهُ إِلا بِالْحَقِّ وَلا يَزْنُونَ))
“และบรรดาผู้ที่ไม่วิงวอนพระเจ้า (ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมา) อื่นนอกจากอัลลอฮฺ และพวกเขาไม่สังหารชีวิตที่อัลลอฮฺมีบัญชาห้ามไว้ นอกจากตามครรลองสัจธรรม อีกทั้งพวกเขาไม่ล่วงละเมิดทางเพศ” และโองการอัลกุรฺอานถูกประทานลงมาอีกว่า
((قُلْ يَا عِبَادِيَ الَّذِينَ أَسْرَفُوا عَلَى أَنْفُسِهِمْ لا تَقْنَطُوا مِنْ رَحْمَةِ ...))
“จงกล่าวเถิดว่า โอ้บ่าวทั้งหลายของข้า บรรดาผู้ล่วงละเมิดต่อตัวเอง อย่าสิ้นหวังในพระเมตตาของอัลลอฮฺ แท้จริงอัลลอฮฺทรงอภัยโทษความผิดทั้งหลาย แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัยยิ่งผู้ทรงเมตตายิ่ง” มุตตะฟะกุน อะลัยฮิ์
บทเรียนจากคุตบะฮ์1. ทุกคนมีโอกาสพลั้งพลาดในการดำเนินชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น แต่ผู้ที่พลั้งหลาดที่ศาสนายกย่องนั้นก็คือ ผู้ที่สำนึกผิด ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้ดีกว่าเดิม
2. หลักเกณฑ์ในการสารภาพผิดและขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา คือ ถอนตัวจากการกระทำที่เป็นบาป เสียใจต่อการกระทำนั้น และตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก นอกจากนี้ หากบาปนั้นเป็นการละเมิดสิทธิเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน บุคคลจะต้องชดใช้หรือขออภัยจากผู้ที่ตนได้เคยละเมิดสิทธินั้นด้วย
3. ไม่ว่าบาปที่เคยกระทำนั้นจะมากมายเพียงใดก็ตาม อัลลอฮฺ ตะอาลา พร้อมที่จะตอบรับและให้อภัยเสมอ ทั้งนี้ ต้องกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดีกว่าเดิมด้วย
อัลลอฮฺ ตะอาลา เท่านั้นที่ทรงทราบดี


ที่มา : http://www.masjidsamin.com/