วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การประนีประนอมที่ "อัลฮุดัยบียะห์"


การประนีประนอมที่ "อัลฮุดัยบียะห์"
          หลังจากบรรดามุสลิมได้อพยพมาอยู่ที่มะดีนะฮ์ 6 ปี พวกเขาถูกตัดขาดมิให้เยี่ยมเยือนมัสญิด อัล ฮะรอม และการฏอวาฟที่บัยตุลลอฮ์ ทั้งๆ ที่พวกเขามีสิทธิ์ในการเยี่ยมเยือนและทำการดูแลมากกว่าพวกมุชริกีน ครั้นเมื่ออัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงให้บรรดามุสลิมมีความเข้มแข็ง มีกำลังมากขึ้น และทรงทำให้ฝ่ายมุชริกีนอ่อนกำลังหลังจากสมรภูมิสนามเพลาะจบลง จึงถึงเวลาที่บรรดามุสลิมจะได้ไปเยี่ยมเยือนมัสญิด อัล ฮะรอม เหมือนกับชาวอาหรับอื่นๆ สิ่งที่ทำให้ท่านเราะซูล ต้องทำเช่นนั้น คือ ท่านได้ฝันเห็นว่าท่านและบรรดาศอฮาบะฮ์ทำการฏอวาฟอุมเราะฮ์ ที่บัยติลลาฮิลฮะรอม
           “แท้จริง อัลลอฮ์ ได้ทรงทำให้ความฝันนั้นเป็นจริงแก่เราะซูลของพระองค์ด้วยความเป็นจริง แน่นอน พวกเจ้าจะได้เข้าสู่มัสญิดอัล ฮะรอม อย่างปลอดภัยตามที่อัลลอฮ์ ทรงประสงค์โดย (บางคน) ของพวกเจ้าโกนผมและ (อีกบางคน) ตัดผม พวกเขาไม่มีความหวาดกลัวใด ๆ เพราะอัลลอฮ์ ทรงรอบรู้สิ่งที่พวกเจ้าไม่รู้ ดังนั้น พระองค์จึงได้ทรงกำหนดชัยชนะอื่นจากนั้นด้วยกับชัยชนะอันใกล้นี้”   (อัลฟัตฮ์ 48 : 27)
          ท่านนะบี ได้คาดการณ์แล้วว่าพวกกุเรชจะขัดขวางมิให้เข้าสู่มักกะฮ์  ท่านจึงพยายามรวบรวมมุสลิมให้ได้มากที่สุด มีบรรดามุสลิมีนที่ไปพร้อมกับท่านถึง 10,400 คน(*1*)   และได้แสดงให้ชาวกุเรชเห็นว่าเจตนาของท่านนั้นบริสุทธิ์ใจ มิได้ออกไปเพื่อทำสงครามด้วย ท่านได้ต้อนฝูงสัตว์ที่จะเชือดในการทำพิธีให้อยู่หน้าขบวน และพร้อมทั้งสวมชุดอิฮรามเพื่อทำอุมเราะฮ์ และเมื่อได้ทราบข่าวในระหว่างทางว่าชาวกุเรชเตรียมขัดขวางไม่ให้เข้ามักกะฮ์ และมีเจตนาที่จะทำสงคราม ท่านจึงเปลี่ยนเส้นทางเดินเพื่อหลบเลี่ยงการปะทะ จนเดินทางไปถึงที่ “ อัลฮุดัยบียะฮ์ ” และลงพักที่ตรงนั้น
การทำสัตยาบัน  “อัรริฎวาน”
          สถานที่อัล ฮุดัยบียะฮ์นี้เอง ท่านนะบี ได้ส่งอุษมาน บิน อัฟฟาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เป็นตัวแทนเพื่อเจรจากับพวกกุเรช และพยายามที่จะให้พวกเขาเปิดเส้นทางให้บรรดามุสลิมเข้าสู่มัสญิดอัล ฮะรอม และ ทำอุมเราะฮ์ แต่ว่าพวกกุเรชได้กักขังหน่วงเหนี่ยวอุษมาน แล้วปล่อยข่าวว่าได้ทำการสังหารอุษมานเสียแล้ว   ท่านเราะซูล จึงให้บรรดาซอฮาบะฮ์ทำสัตยาบัน ในการร่วมเป็นร่วมตายด้วยกัน บรรดาซอฮาบะฮ์จึงจับมือทำสัตยาบันร่วมกับบท่านนะบี และเรียกการทำสัตยาบันครั้งนี้ว่า “บัยอะตุรริฎวาน” ซึ่งทำกันใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงชมเชยผู้ที่เข้าทำสัตยาบันในครั้งนี้ ด้วยโองการที่กล่าวว่า :
           “แท้จริง อัลลอฮ์ ทรงพอพระทัยต่อบรรดาผู้ศรัทธา ขณะที่พวกเขาให้สัตยาบันแก่เจ้า (มุฮัมมัด) ใต้ต้นไม้ (ที่ฮุดัยบียะฮ์) พระองค์ทรงรอบรู้ดีถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกเขา พระองค์จึงได้ทรงประทานความสงบใจลงมาบนพวกเขาและได้ทรงตอบแทนให้แก่พวกเขาซึ่งชัยชนะอันใกล้นี้”  (อัลฟัตฮ์ 48 : 18)
          เมื่อพวกกุเรชได้ล่วงรู้ถึงการทำสัตยบัน พวกเขาจึงปล่อยท่านอุษมาน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แล้วส่งตัวแทนเพื่อเจรจาต่อรองกับท่านนะบีมุฮัมมัด ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันแก่ชาวกุเรชว่า ท่านนะบีมุฮัมมัด กับบรรดาศอฮาบะฮ์นั้นมิได้มาเพื่อสู้รบ หากแต่ว่ามาเพื่อทำการเยี่ยมเยือน (ซิยาเราะฮ์) อัลบัยตัลฮะรอม แต่พวกกุเรชไม่ยอมอนุญาตให้ตามที่ได้แจ้งไป เพราะการอนุญาตนั้นพวกเขาถือว่าเป็นการทำลายศักดิ์ศรีของพวกเขาต่อหน้าชาวอาหรับ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงคิดหาทางออก และทำให้เกิดการประนีประนอมเพื่อรักษาหน้าไว้ และแสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอของมุสลิมจากข้อตกลง  ท่านเราะซูล ได้ตกลงร่วมกับพวกเขาคือ ;
  • ให้มุสลิมเดินทางกลับในปีนี้ โดยไม่เข้ามักกะฮ์เพื่อทำอุมเราะฮ์ แล้วปีหน้าให้กลับไปทำใหม่
  • ให้ยุติสงครามระหว่างทั้งสองฝ่าย เป็นระยะเวลา 10 ปี
  • ใครที่เป็นมุสลิมออกจากมักกะฮ์ไปอยู่มะดีนะฮ์ให้ส่งกลับมักกะฮ์
  • ใครออกจากการเป็นมุสลิมแล้วกลับไปมักกะฮ์ ชาวกุเรชจะไม่ส่งคืนเขาให้กับมุสลิม
  • บุคคลในเผ่าต่าง ๆ ที่จะเข้ารวมกับมุฮัมมัดหรือกุเรช พวกเขาก็ย่อมทำได้และให้แต่ละฝ่ายเคารพให้เกียรติพันธมิตรอื่น ๆ ด้วย
          เท่าที่พิจารณาในเงื่อนไขต่างๆ เท่ากับเป็นการบีบบังคับหรือลิดรอนสิทธิ์ของมุสลิม จึงทำให้มุสลิมทั้งหลายได้ทักท้วงท่านเราะซูลุลลอฮ์ หลายครั้งและแสดงความไม่เห็นด้วยในข้อตกลงนั้น แต่ทว่า ท่านเราะซูล ได้กล่าวว่า :
          (( إِنِّيْ رَسُوْلُ الله وَلَنْ يُضَيِّعنِي الله ))
          “แท้จริง ฉันเป็นศาสนทูตของอัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา แน่นอน อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จะไม่ทรงทอดทิ้งฉันแน่นนอน”
          ในท้ายที่สุดได้เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดามุสลิมว่า เงื่อนไขต่างๆได้กลับกลายเป็นผลดีกับบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหมด จนทำให้ชาวกุเรชได้ขอยกเลิกข้อตกลงที่บรรดามุสลิมเคยคิดว่าเป็นการบีบบังคับ และลิดรอนสิทธิ์ของพวกเขาออกไป
ผลลัพธ์ของการประนีประนอมที่ “อัลฮุดัยบียะฮ์”
          อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเรียกการประนีประนอมครั้งนี้ว่าชัยชนะ (ฟัตฮัน)  พระองค์ได้ประทานดำรัสให้กับศาสนทูตในขณะที่ท่านเดินทางกลับว่า :
           “แท้จริง เราได้ให้ชัยชนะแก่เจ้าซึ่งเป็นชัยชนะอย่างชัดแจ้ง”   (อัลฟัตฮ์ 48 : 1) (*2*)
 
           มีชายคนหนึ่งถามท่านนะบี ว่า : “มันเป็นชัยชนะใช่ไหม?”
          ท่านนบี ตอบว่า :
         
          (( نعم ، والذِيْ نَفْسِيْ بِيَدِهِ إِنَّهُ لَفَتْحٌ ))

          “ใช่แล้ว ขอสาบานด้วยผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า แน่นอน มันคือชัยชนะที่แท้จริง” (*3*) 
 
ผลลัพธ์จากการประนีประนอมนั้นมีดังนี้ : -
  1. ในการประนีประนอมครั้งนี้ ชาวกุเรชได้ยอมรับต่อการมีเสถียรภาพและเขตแดนของมุสลิม ในขณะที่มีการเซ็นสัญญาตกลงกันทำให้บางเผ่าได้เข้าร่วมเป็นมิตรกับบรรดามุสลิมอย่างเปิดเผย อย่างไม่หวาดเกรงหรือต้องเอาใจชาวกุเรชอีกต่อไป เช่น ที่เผ่าคุซาอะฮ์ได้กระทำ
  2. การยุติสงครามกับชาวกุเรช ได้เปิดโอกาสให้บรรดามุสลิมไปจัดการกับศัตรูฝ่ายอื่นๆ จึงทำให้การกวาดล้างพวกยิวในเมือง “คอยบัร” เสร็จสมบูรณ์และสามารถยึดครองได้ใน ปีที่ 7 แห่งฮิจญ์เราะฮ์ศักราช ตลอดจนการกวาดล้างเผ่า “ฆ็อต่อฟาน” ทางหัวเมือง “นัจด์” ในสงครามที่ชื่อว่า “ซาติรร่อก็ออ์” รวมถึงการส่งกองกำลังไปที่เมือง “มุอ์ตะฮ์” ซึ่งอยู่ทางด้านทิศเหนือของคาบสมุทรอาหรับและสุดท้ายของการกวาดล้าง คือสงครามที่ชื่อว่า “ซาตุสสะลาซิล” เพื่อเป็นบทเรียนให้เผ่าต่างๆ
  3. การประนีประนอมในครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้มุสลิม มีเวลาในการเผยแพร่อิสลาม ท่านเราะซูล ได้ส่งตัวแทนไปยังเจ้าเมืองต่าง ๆ และบรรดาผู้นำประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ทำการเชิญชวนพวกเขาให้เข้ารับอิสลาม การประนีประนอมนี้ได้ให้โอกาสแก่เผ่าต่างๆ กล้าที่จะมีสัมพันธ์ติดต่อกับบรรดามุสลิม และรับทราบเรื่องราวของอิสลาม  เป็นการชี้ให้เห็นว่าอิสลามนั้นได้แผ่ขยายไปอย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียง 2 ปีของการทำสัญญาประนีประนอม ทำให้มีนักต่อสู้เดินทางพร้อมกับท่านเราะซูล เพื่อพิชิตเมืองมักกะฮ์ถึง 10,000 คน  เช่นเดียวกัน ได้มีคนที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่งเข้ารับนับถืออิสลาม เช่น คอลิด บิน อัลวลีด และอัมรุบนุ้ลอ๊าซ-ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา- เป็นต้น
 

ดร.อัดุลลอฮฺ  อิบนุ อับดิรเราะฮ์มาน อัลค็อรอาน



  1. ซ่อฮี๊ฮฺ อัล บุคอรีย์ กิตาบุ้ลมะฆอซีย์ บาบ ฆ็อซวะตุ้ลฮุดัยบียะฮฺ ซ่อฮี๊ฮฺ มุสลิม กิตาบุ้ลอิมาเราะฮฺ บาบ อิสติฮฺบาบ “มุบายะอะฮฺ อัล อิมาม”
  2. ดู ความหมายของอายะฮฺในตัฟซีร อัฏฏอบรีย์ และอิบนิ กะซี๊ร
  3. มุสนัด อิมาม อะฮฺมัด 3/420 และอัลฮากิมใน “มุสตัดร็อก” ของท่าน 2/459 และท่านได้บอกว่าถูกต้อง (ซอฮี๊ฮฺ) อัซซะฮะบีย์ก็เห็นด้วย
  4.