วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ท่านอุตบะห์ บิน ฆ็อซวาน

ท่านอุตบะห์ บิน ฆ็อซวาน
ศ่อฮาบะห์ผู้ยิ่งใหญ่
โดย : คุณครู
ชาติตระกูล :
          ท่านคือ อุตบะห์ อิบนุ ฆ็อซวาน อิบนุ ญาบิร อิบนุ วะฮ์บฺ อิบนุ ฮาริส อิบนุ มาซิน อิบนุ มันซู๊ร อิบนุ อิกริมะห์ อิบนุ ศ็อสฟะห์ อิบนุ อัยลาน มีฉายาว่า อบา อับดัลลอฮ์ บ้างก็เรียกว่า “อบา ฆ็อซวาน”
ชีวิตในเยาว์วัย :
          ท่านอุตบะห์ใช้ชีวิตในเยาว์วัยเช่นเดียวกับลูกหลานคนอื่นของมาซิน มีอำนาจ ราชศักดิ์ ตามแบบอย่างสมัยญาฮิลียะห์ในอดีต มั่งคั่ง มีเกียรติ เป็นที่นับหน้าถือตา เป็นที่ไว้วางใจของญาติพี่น้อง มีจรรยามารยาท มีความคิดกว้างไกล รู้เท่าทัน และมีความกล้าหาญ ปฏิภาณไหวพริบดีเยี่ยม
ชีวิตในอิสลาม :
          หลังจากที่ท่านรอซูลุลลอฮ์ ได้รับคำสั่งจากอัลเลาะห์ ให้ทำหน้าที่แนะนำตักเตือนผู้คนให้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามได้ไม่นานนัก ท่านอุตบะห์ก็ประจักษ์ชัดในความเป็นจริงแห่งสัจธรรมอิสลาม ท่านได้ชักชวนครอบครัว บุครหลาน ตลอดจนญาติพี่น้องของท่านให้เข้ารับอิสลามอย่างเงียบๆ เพราะเกรงภัยอันตรายจะประสบกับเขาเหล่านั้น จากน้ำมือของฝ่ายตรงกันข้าม
         
          ท่านเป็นผู้ที่ต่อสู้เพื่ออิสลามมาตั้งแต่ต้น ด้วยการปกป้องช่วยเหลือผู้ถูกลงโทษทรมาน อันเนื่องมาจากการประกาศตนเข้ารับอิสลาม
          ท่านเป็นหนึ่งในเจ็ดคนแรกที่ประกาศตนเข้ารับอิสลาม ซึ่งสภาพการณ์ในขณะนั้นเป็นอันรายต่ออิสลามเป็นที่สุด เปรียบเสมือนเปลวเพลิงที่กำลังรายล้อมพร้อมที่จะเผาผลาญท่านให้เป็นจุณ มีเพียงอัลเลาะห์ องค์เดียวเท่านั้นที่เป็นที่พึ่งเป็นที่มอบหมาย และเป็นผู้คุ้มครองที่แท้จริง
          การรวมตัวของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา ที่แสดงออกด้วยการเป็นปฏิปักษ์ต่อบรรดาผู้ศรัทธาในขณะนั้น เปรียบได้ดั่งรอยยิ้มและกำลังใจที่ผุดขึ้นกลางใจของบรรดาผู้ศรัทธา ทำให้จิตใจสงบและมั่นคงยิ่งขึ้น
          ความมุ่งมั่นที่มีอยู่ในจิตใจของผู้ศรัทธาในขณะนั้น ก็คือ การกำจัดรูปปั้นทั้งหลายแหล่ที่มีอยู่ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้ผู้คนหลงผิดนั่นเอง
          อีกสิ่งหนึ่งที่บรรดาผู้ศรัทธาในขณะนั้นปรารถนาอย่างแรงกล้า ก็คือ การหลบหนีลี้ภัยไปให้พ้นจากการกดขี่ข่มเหงของพวกกาฟิร กุเรช ไปยังสถานที่ที่ให้ความปลอดภัย และสุขสงบ
          เมื่อเป็นเช่นนี้ พลังแห่งการต่อสู้ จึงถูกปลุกให้ลุกโพลงขึ้นมา กลายเป็นพลังศรัทธาที่แข็งแกร่ง อันเนื่องมาจากการกดขี่ข่มเหง บีบคั้นทั้งร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้เพื่อให้อุดมการณ์อิสลาม และศาสนาอันสูงส่งดำรงอยู่
          การที่ญาติสนิทมิตรสหาย แสดงอาการเป็นศัตรูมุ่งร้ายต่อสัจธรรมแห่งอิสลาม นับเป็นความทุกข์ระทมที่สุดในชีวิต มิหนำซ้ำยังถูกกดดันในการดำรงชีวิตอย่างแสนสาหัสอีกด้วย
          ท่านอุตบะห์ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ณ มัสยิดในเมืองบัสเราะห์ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ของชีวิตว่า :
         “พวกท่านน่าจะได้เห็นสภาพของฉัน ในครั้งที่ฉันเป็นหนึ่งในเจ็ดคนเท่านั้นที่เป็นผู้ศรัทธาต่อท่านรอซูลุลลอฮ์ พวกเราตกอยู่ในสภาพที่อดอยาก ไม่มีอะไรจะกิน นอกจากต้องกินใบไม้เป็นอาหารเพื่อประทังชีวิตไปวันๆ มันบาดปาก บาดคอ เวลากลืนเข้าไปเป็นอย่างยิ่ง”
อพยพสู่ อบิสสิเนีย (ฮะบะชะห์)
          ท่ามกลางสภาวะวิกฤติ ที่มีการประจันหน้ากัน ระหว่างฝ่ายผู้ศรัทธากับบรรดาผู้บูชารูปปั้น ที่คับคั่งไปด้วยผู้คนและแสนยานุภาพ นับเป็นการทดสอบบรรดาผู้ศรัทธาที่มีจำนวนเพียงน้อยนิดว่าจะเป็นผู้ยืนหยัดศรัทธามั่นในอิสลามจริงแค่ไหน เพียงไร และฝ่ายใดกันแน่ที่จะประสบกับชัยชนะ ดังกล่าวนี้ ล้วนเป็นคำถามที่อยู่ในจิตใจของผู้อพยพทุกคน
          ท่านรอซูล ทราบดีถึงสภาวะจิตใจที่บรรดาซอฮาบะห์ของท่านกำลังเผชิญอยู่ ท่านมีความอาทรห่วงใยต่อพวกเขา ยิ่งกว่าที่พ่อแม่ ญาติพี่น้องของพวกเขาที่มีต่อกันเสียอีก ท่านถามตนเองเสมอว่า หากถึงขั้นต้องสู้รบกันโดยเอาชีวิตของผู้ศรัทธาจำนวนน้อยนิดเข้าแลก กับการที่จะให้พวกเขาอดทนต่อความทุกข์ยากมากยิ่งขึ้นนั้น อะไรจะสมควรกว่ากัน พวกเขาเปรียบเสมือนต้นกล้าอ่อนๆ ที่ต้องการรดน้ำ พรวนดิน เพื่อจะได้เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรงในวันข้างหน้ามิใช่หรือ ?
          ด้วยเหตุนี้ การอพยพจึงเป็นหนทางออกที่ดีที่สุด เพื่อมุ่งสู่แผ่นดินอันกว้างใหญ่ของอัลเลาะห์และให้การออกเดินทางในครั้งนี้เป็นข้อเตือนสติและเพิ่มความหนักแน่นอดทนในศาสนา หนักแน่นในการตัดสินใจของผู้คนในภายภาคหน้า อีกทั้งยังเป็นความดีงามในทุกย่างก้าวที่จะเดินไปข้างหน้าไม่ว่าจะบนบกหรือในน้ำ ดังที่อัลเลาะห์ทรงกำหนดไว้ด้วย
          บรรดาผู้ศรัทธาต่างเชื่อฟังปฏิบัติตามท่านรอซูล เช่นเดียวกับที่พวกเขาเชื่อฟังปฏิบัติตามอัลเลาะห์ ดังนั้น พวกเขาจึงเชื่อฟังและปฏิบัติตามท่านรอซูล คำพูดของท่านรอซูล คือคำพูดของพวกเขา ดังจะเห็นได้จากรายงานของท่านอิบนิ อิสหาก ที่บันทึกเอาไว้ว่า :
          ภัยพิบัติที่กำลังจะประสบกับบรรดาศอฮะบะห์ของท่านรอซูล ในดินแดนมักะห์แห่งนี้นั้น ดูเหมือนจะไม่เป็นที่ปลอดภัยแก่พวกเขาที่จะยังคงอยู่ ณ ที่นั้นอีกต่อไป
ท่านรอซูล จึงกล่าวกับบรรดาศอฮะบะห์ว่า :
          พวกท่านเดินทางไปสู่ดินแดน “ฮะบะชะห์” เพราะที่นั่นมีกษัตริย์ ซึ่งไม่มีคนใดจะได้รับการกดขี่ข่มเหงหรืออยุติธรรมเลย และดินแดนแห่งนั้น เป็นที่ปลอดภัย จงไปยังดินแดนแห่งนั้นเถิด จนกว่าอัลเลาะห์ จะให้ทางออกแก่พวกท่าน จากสิ่งที่พวกท่านกำลังเผชิญอยู่
          บรรดาผู้อพยพจึงได้ออกเดินทางไปยัง “ฮะบะชะห์”(อบิซซิเนีย) และหนึ่งในบรรดาผู้อพยพในครั้งนั้น ก็มีท่านอุตบะห์ อิบนิ ฆ็อซวาน รวมอยู่ด้วย การอพยพดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนรอญับ เป็นปีที่ 5 นับตั้งแต่ท่านรอซูลุลลอฮ์ ทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาอิสลาม


ท่านอุตบะห์ อิบนิ ฆ็อซวาน นักต่อสู้เพื่ออิสลาม
          ท่านอุตบะห์ อิบนุ ฆ็อซวาน  ได้มอบตนต่อศาสนาอิสลาม นับตั้งแต่คำประกาศที่เปล่งออกมาจากปากของท่านเองที่ว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลเลาะห์ และท่านนบีมุฮัมหมัด เป็นรอซูลของพระองค์” ท่านยืนเคียงบ่าเคียงไหล่พร้อมกับนักรบอิสลาม ทุ่มเทตัวเองให้กับการรบมาอย่างโชกโชน ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในทุกสมรถูมิครั้งแล้วครั้งเล่า นับตั้งแต่สมรภูมิบัดรฺ ซึ่งเป็นสมรภูมิแรกเป็นต้นมาที่ได้ร่วมทัพกับท่านรอซูลโดยมิได้ย่อท้อแต่ประการใด ประหนึ่งเป็นกำหนดจากอัลเลาะห์ ที่จะให้ชื่อของท่านปรากฏอยู่ในทุกสมรภูมิ เพียงเพื่อปกป้องอิสลามเอาไว้ให้สูงเด่นตลอดไป เคียงข้างท่านรอซูล
           ท่านอิมาม อัลฮาฟิซ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัลอิซอบะห์” ว่า :
          ท่านอุตบะห์ ได้ออกไปรบกับท่านรอซูลในสมรภูมิบัดรฺ และในทุกสมรภูมิ ท่านเป็นนักรบที่เก่งกล้า จัดเจนในเชิงรุกรบ ท่านยอมพลีชีพเพื่ออิสลามในทุกสมรภูมิเคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านรอซูล
          เวลาผ่านไป อิสลามแพร่ไปทั่วทุกสารทิศในคาบสมุทรอาหรับ อัลเลาะห์ ทรงให้ศาสนาของพระองค์สมบูรณ์ด้วยวะฮีย์สุดท้าย ท่านรอซูล ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ แล้วท่านก็จากโลกนี้ไป ท่านอบูบักรฺ อัศศิ๊ดดี๊ก ได้ทำหน้าที่ผู้ปกครองรัฐอิสลามสืบทอดเป็นคนแรก ติดตามด้วยท่านอุมัร อัลฟารู๊ก ซึ่งผู้คนให้การยกย่องและเกรงใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ครองเมืองตามแว่นแคว้นต่างๆ ที่ท่านเป็นผู้แต่งตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่ดูแล ถามไถ่ และกวดขันการทำงานอย่างละเอียด ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะไปครองเมืองต่างๆนั้น ท่านไม่พิจารณายศถาบรรดาศักดิ์ หรือกลุ่มพวกพ้องอิทธิพลในอดีต แต่ท่านจะพิจารณาผู้ที่มีพลังการศรัทธาที่สูง ถูกต้อง และสัตย์จริงเป็นสำคัญ
ช่วงการเป็นผู้ปกครองของท่านอุตบะห์
          ในช่วงปีฮิจเราะห์ศักราช 15-16 ท่านอุมัรได้ส่งท่าน อุตบะห์ อบนุ ฆ็อซวาน เป็นแม่ทัพและเป็นผู้ปกครองเมืองบัศเราะห์ โดยกล่าวว่า :
          อุตบะห์เอ๋ย จงเดินทางไปพร้อมกับผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าเถิด ไปจนสุดเขตแดนที่มีคนอาหรับ ไปจนสุดเขตแดนที่มิใช่คนอาหรับ ให้เจ้าเดินทางไปพร้อมกับความจำเริญของอัลเลาะห์ และภายใต้การดูแลของพระองค์ จงยำเกรงอัลเลาะห์ในทุกสภาพการณ์เท่าที่เจ้ามีความสามารถ จงนึกอยู่เสมอว่าเจ้ากำลังอยู่ในวงล้อมของศัตรู และหวังว่าอัลเลาะห์จะทรงช่วยเหลือเจ้าให้มีชัยชนะพวกเขาเหล่านั้น ฉันได้ส่งสาส์นไปยังท่านอะลาอฺ อิบนิ อัลฮะฏะร่อมีย์ ให้จัดกำลังเสริมสนับสนุนเจ้าด้วยอุรฟะญะห์ อิบนิ ฮิรซะมะห์ ผู้เป็นนักต่อสู้ที่ช่ำชองในกุศโลบายในการรบ เมื่อพบกันแล้วจงชี้แจงให้เขาเข้าใจ และคอยดูแลเอาใจใส่เขาด้วย จงเชิญชวนผู้คนให้เข้าสู่อิสลาม จังรับผู้เข้าสู่อิสลามมาเป็นพวก ส่วนผู้ที่ปฏิเสธอิสลามนั้น ก็ให้เขาจ่ายญิซยะห์ภาษีหัว แต่สำหรับผู้ที่ไม่ยอมรับเงื่อนไขก็ให้จัดการโดยไม่ต้องปราณี จงเกรงกลัวอัลเลาะห์ในการใช้อำนาจปกครอง จงรู้จักข่มตน อย่าปล่อยตนจนกลายเป็นคนหยิ่ง จองหอง หลงตน บ้าอำนาจ จนผู้อื่นเอาไปเป็นเยี่ยงอย่างในทางที่ไม่ดี
          เจ้าเคยเคียงข้างกับท่านรอซูลุลลอฮ์ จนกลายเป็นผู้มีเกียรติ ซึ่งก่อนหน้านั้นเจ้าไม่เคยมีมาก่อน เจ้ากลายเป็นผู้ที่เข้มแข็ง ซึ่งแต่ก่อนนั้นเจ้าไม่เคย เจ้าได้เป็นผู้ปกครอง มีผู้คนเชื่อฟังเจ้า เจ้าจะสั่งใช้อะไรก็มีคนปฏิบัติตามเจ้า ดังกล่าวนี้ นับเป็นความกรุณา(นิอฺมะห์)ของอัลเลาะห์ ที่ได้ประทานแก่เจ้า จงรักษานิอฺมะห์นี้ไว้ เพราะจะช่วยปกปักรักษาเจ้ามิให้ตกเป็นผู้ที่ฝ่าฝืน เพราะฉันเกรงว่า การฝ่าฝืนนั้นจะนำพาไปสู่ไฟนรก ขออัลเลาะห์ทรงคุ้มครองด้วยเถิด
          เมื่อเจ้าและผู้ใต้บังคับบัญชาของเจ้าไปถึงสุดเขตแดนที่มีคนอาหรับอยู่ และสุดเขตแดนที่มิใช่คนอาหรับอยู่เมื่อใด ก็จงหยุดอยู่ ณ ที่นั้น
          แล้วอุตบะห์ และบรรดาผู้ติดตามก็เดินทางต่อไปจนกระทั่งถึง “อัลมัรบัด” และเคลื่อนพลต่อไปจนถึงสะพานข้ามแม่น้ำยูเฟรติส จึงให้ทหารลงพัก และได้แจ้งความจำนงในการมาให้ผู้ครองลุ่มน้ำยูเฟรติสได้ทราบ ผู้ครองลุ่มน้ำยูเฟรติสได้จัดทหารจำนวนสี่พันคนมาประจันหน้า ท่านอุตบะห์จึงส่งทหารของท่านเข้าประจัญบานในตอนสายด้วยกำลังเพียงห้าร้อยนาย ฝ่ายข้าศึกไม่มีผู้ใดเหลือรอดชีวิต นอกจากเจ้าผู้ครองลุ่มน้ำยูเฟรติสคนเดียวเท่านั้นที่ถูกจับเป็นเชลย
          อัลฮาฟิซ ยังระบุไวในหนังสือ “อัลอะซอบะห์” และเจ้าของหนังสือ “อัลอิสติอ๊าบ” ยังได้ระบุไว้เช่นเดียวกันว่า “ท่านอุตบะห์เป็นมุสลิมคนแรกที่เป็นผู้ครองนครบัศเราะห์” เป็นมุสลิมคนแรกที่พิชิตเมือง “อัลอุบุลละห์” ซึ่งเป็นหัวเมืองชายฝั่ง “ดะญะละห์”
          ท่านอุตบะห์ได้สั่งให้ “มะห์ญัน อิบนิ อัลอัดร็ออฺ” สร้างมัสยิดอัลบัศเราะห์อันยิ่งใหญ่
          เจ้าของหนังสือ “อัลอิสติอ๊าบ” ได้บันทึกคำคุฏบะห์ของท่านอุตบะห์ ขณะเข้าเมืองบัศเราะห์ ตามที่ปรากฏในหนังสือ “อะสะดุลฆอบะห์” ของท่านอิบนิ กะซี๊ร ว่า
          พึงรู้เถิดว่า แท้จริงเมื่อครั้งที่ชีวิตต้องเผชิญหน้ากับการถูกบีบบังคับในทุกย่างก้าว เหลือความอดทนอยู่เพียงเล็กน้อย สภาพการณ์ในขณะนั้นบังคับให้ต้องอพยพหนีภัยไป แล้วเราก็ได้เคลื่อนย้ายไปสู่ดินแดนที่ดีมีสุข การอพยพทำให้เรานึกถึงว่า ก้อนหินที่ถูกโยนลงไปจากปากเหวนรกต้องใช้เวลาร่วม 70 ปี ก็ยังไม่ถึงก้อนเหว แต่ขอสาบานว่านรกนั้นมีวันต้องเต็ม การอพยพทำให้เราสำนึกว่าความห่างไกลระหว่างประตูสวรรค์สองบานนั้นเป็นเวลา 40 ปี ขอสาบานว่า วันหนึ่งผู้คนจะไปชุมนุมที่นั่นจนเต็มไปหมด และฉันขอคุ้มครองต่ออัลเลาะห์ในการที่จะมองเห็นตนเองว่ายิ่งใหญ่เลอเลิศ และเล็กน้อยในสายตาผู้คนทั้งหลาย แล้วท่านทั้งหลายก็จะได้พบเองในภายหลัง(นำเสนอโดยนักบันทึกฮะดีษทั้ง 3)
การสิ้นชีวิตของท่านอุตบะห์
          ภายหลังจากที่ท่านอุตบะห์เข้าเป็นผู้ปกครองเมืองบัศเราะห์ และได้ทำโครงสร้างมัสยิดอัลบัศเราะห์อันยิ่งใหญ่อันยิ่งใหญ่เรียบร้อยแล้ว ท่านได้เดินทางสู่มักกะห์เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ ท่านได้ขอร้องท่านคอลีฟะห์ อุมัร ที่จะไม่ดำรงตำแหน่งผู้ปกครองเมืองบัศเราะห์ แต่ท่านอุมัรปฏิเสธ ท่านอุตบะห์จึงขอดุอาอฺต่ออัลเลาะห์ว่า :
           ข้าแต่อัลเลาะห์ โปรดอย่าให้ข้าพระองค์ต้องกลับไปยังที่นั่นอีกเลย
แล้วต่อมาท่านก็สิ้นชีวิต
         มีผู้กล่าวว่า ท่านตกลงมาจากพาหนะของท่านจนถึงแก่ความตายในปีฮิจเราะห์ศักราชที่ 17 ในการเดินกลับจากมักกะห์ บ้างก็กล่าวว่า ท่านสิ้นชีวิตที่เมือง “ร็อบวะห์”
          ขออัลเลาะห์ ทรงเอ็นดูเมตตาท่านอุตบะห์ ศอฮาบะห์ผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ด้วยเถิด



ที่มา :  หนังสือประวัติซอฮาบะห์       เผยแพร่โดย สายสัมพันธ์
ที่มา  :  http://www.islammore.com/main/index.php