วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าส

ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าส
    
          ศอหะบะฮฺผู้มีเกียรติท่านนี้นับได้ว่าเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความประเสริฐเพรียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมไม่มีข้อตำหนิหรือขาดตกบกพร่อง เป็นญาติใกล้ชิดกับท่านรอซูล เพราะเป็นบุตรของลุงของท่านรอซูล เป็นอาลิมผู้มีวิชาความรู้แห่งประชาชาติของท่านนบีมุฮัมหมัด มีความรู้กว้างขวางประดุจดังมหาสมุทร เปี่ยมล้นอยู่เสมอไม่มีวันเหือดแห้งเป็นผู้ที่ "ตั๊กวา"ยำเกรงต่ออัลเลาะห์ ถือศีลอดตอนกลางวัน ลุกขึ้นละหมาดในยามค่ำคืน ยามดึกสงัดก็ลุกขึ้นขออภัยโทษต่ออัลเลาะห์ ร้องไห้เสมอเพราะความยำเกรงพระองค์จนใบหน้าเปียกชุ่มไปด้วยน้ำตา ศอหะบะห์ผู้มีเกียรติผู้นี้คือ "อับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบ๊าส" ผู้เป็นอัจฉริยะแห่งประชาชาติของท่านนบีมุฮัมมัด เป็นผู้เชี่ยวชาญในอัลกุรอานทั้งด้านถ้อยคำและความหมาย สามารถเข้าถึงเป้าหมายของอัลกุรอาน รู้จุดประสงค์และฮิกมะห์ของอัลกุรอานได้เป็นอย่างดี
          ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าส เกิดก่อนการฮิจญ์เราะฮฺของท่านนบี 3 ปี เมื่อท่านรอซูล วะฟาตขณะนั้นท่านอิบนิ อับบ๊าส มีอายุเพียง สิบสาม ปีทั้งๆที่อายุยังน้อย แต่ท่านก็ท่องจำฮะดีษจากท่านนบีถึง 1660 ฮะดีษ นับเป็นประโยชน์แก่มุสลิมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งท่านอิหม่ามบุคอรีย์และมุสลิม ได้บันทึกไว้ในซ่อฮี้ฮฺของท่านทั้งสอง
          เมื่อมารดาของท่านอิบนุอับบ๊าส คลอดท่านออกมานั้นนางได้อุ้มท่านมาหาท่านรอซูล ท่านรอซูลใช้น้ำลายของท่านป้ายในลำคอของท่านอิบนิอับบ๊าส ด้วยเหตุนี้สิ่งแรกที่เข้ากระเพาะของเด็กน้อยก็คือน้ำลายของท่านนบี อันมีบะรอกะห์และสะอาดบริสุทธิ์ ดังนั้นความยำเกรง ความรู้ ความเข้าใจ และความถูกต้อง ก็เข้าสู่เรือนร่างของท่านพร้อมกันนั้นด้วย
อัลกุรอานกล่าวไว้มีความว่า :
         และผู้ใดที่อัลเลาะห์ ทรงประทานฮิกมะห์(ฮิกมะฮฺ คือความรู้ความเข้าใจ พูดถูกต้อง มีสติปัญญา ยำเกรง และนอบน้อม) ให้แก่เขา ดังนั้นพระองค์ทรงประทานความดีมากมายให้แก่เขาแล้ว       
(อัลบะกอเราะห์ 2 : 269) 
    
          เมื่อท่านอิบนุ อับบ๊าส อายุได้เจ็ดขวบ ก็ได้มาประจำอยู่กับท่านรอซูล เป็นห่วงเป็นใยและคอยปรนนิบัติท่านรอซูล ทุกอย่างเท่าที่สามารถทำได้ เช่นเตรียมน้ำให้ท่านร่อซูลใช้อาบน้ำละหมาด เมื่อท่านรอซูลละหมาดท่านอิบนิอับบ๊าสก็ละหมาดตาม เมื่อท่านร่อซูลเดินทางไกลท่านอับดุลเลาะห์ก็จะติดตามไปด้วยเสมอ จนกระทั่งเปรียบเสมือนดังเงาที่เฝ้าติดตามท่านรอซูลไปทุกฝีก้าว พร้อมกับหัวใจอันบริสุทธิ์คอยตอบรับคอยจดจำในทุกอิริยาบถของท่านรอซูล เอาไว้
          ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าสเล่าไว้ว่า ครั้งหนึ่งท่านรอซูล จะอาบน้ำละหมาด ฉันจึงรีบนำน้ำมาให้ท่าน ท่านรอซูลก็กล่าวขอบใจ เมื่อท่านร่อซูลจะละหมาด ท่านชี้ให้ฉันยืนเคียงข้างท่านแต่ฉันกลับไปยืนที่ด้านหลัง เมื่อท่านละหมาดเสร็จท่านหันมาถามว่า :
          โอ้อับดุลลอฮ์ทำไมถึงไม่ยอมยืนเคียงข้างฉัน?
ฉันตอบว่า :
          ก็ท่านเป็นผู้มีเกียรติเกินกว่าที่ฉันจะเข้าไปยืนกระทบไหล่กับท่านนี่ครับ โอ้ท่านรอซูล
ทันใดนั้นท่านร่อซูลจึงยกมือทั้งสองข้างขอดุอาอฺต่ออัลลอฮฺว่า :

         โอ้ อัลเลาะห์ขอพระองค์ทรงโปรดประทานฮิกมะห์ให้แก่อับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบ๊าส ด้วยเถิด
         และอัลเลาะห์ก็ทรงรับการดุอาอฺของท่านนบี พระองค์ทรงประทานฮิกมะห์ให้หนุ่มน้อยจากตระกูลฮาชิม จนกระทั้งเป็นผู้ปราดเปรื่องเหนือผู้มีความรู้ทุกคนที่อยู่ในสมัยเดียวกัน
         ท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ อับบ๊าส สนใจศึกษาหาความรู้ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งวิชาความรู้ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากท่านรอซูลตลอดเวลาที่ท่านนบีมีชีวิตอยู่ และหลังจากที่ท่านรอซูลได้ "วะฟาต" ไปแล้ว ท่านอิบนิ อับบ๊าส จึงใช้เวลาช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ศึกษาหาความรู้จากบรรดาอุละมาอฺที่เป็นศอหะบะห์ชั้นอาวุโสกว่า ท่านเริ่มติดต่อขอพบบรรดาศอหะบะห์เพื่อแสวงหาวิชาความรู้ดังที่ท่านเล่าไว้ว่า :
         เมื่อฉันทราบว่ามีศอหะบะห์ท่านหนึ่งท่านใดจำหฮะดีษของท่านรอซูล ถ้าหากฉันไปถึงบ้านของเขาตรงกับเวลาเที่ยงวัน ซึ่งเป็นเวลาพักผ่อน ฉันก็จะเอนหลังใช้ผ้าห่มหนุนศีรษะนอนอยู่ตรงเชิงบันไดหน้าบ้าน ลมพัดพาฝุ่นมาโดนฉันเต็มไปหมด ถ้าหากฉันจะขออนุญาตเข้าไปหาเขาเสียในตอนนั้นก็จะต้องได้รับอนุญาตอย่างแน่นอน แต่ฉันไม่ปรารถนาจะรบกวนช่วงเวลาพักผ่อนของเขา และเมื่อเขาออกจากบ้านจึงพบเห็นฉันอยู่ในสภาพเช่นนั้น เขาก็กล่าวว่า :
         โอ้บุตรของลุงของท่านรอซูล ท่านมีธุระอันใดหรือ จึงต้องลำบากลำบนมาถึงที่นี่ด้วยตนเอง? เพียงแต่ท่านสั่งมา ฉันจะไปหาท่านทันที
อิบนิ อับบ๊าสตอบว่า :
         จำเป็นเหลือเกินที่ฉันต้องมาหาท่าน เพราะวิชาความรู้นั้นเราต้องเป็นฝ่ายไปหามัน มิใช่มันจะมาหาเรา
        ต่อจากนั้นฉันก็ถามถึงฮะดีษของท่านรอซูล ที่ศอหะบะห์ผู้นั้นท่องจำไว้
        นอกจากท่านอิบนุ อับบ๊าส จะเป็นผู้ถ่อมตนเกี่ยวกับการแสวงหาวิชาความรู้แล้วท่านยังยกย่องให้เกียรติผู้มีวิชาความรู้อีกด้วย เช่นเหตุการณ์ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านชัยดฺ อิบนิ ซาบิด ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในบรรดาผู้บันทึกวะฮีย์และเป็นหัวหน้าคณะผู้ชี้ขาดปัญหาศาสนาของชาวมะดีนะห์เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟิกฮฺ การอ่าน วิชาการแบ่งมรดก ขณะนั้นท่านกำลังจะขี่อูฐ และท่านอิบนิ อับบ๊าส ยืนอยู่เบื้องหน้าในลักษณะนอบน้อมสงบเสงี่ยมเหมือนทาสที่กำลังยืนอยู่ต่อหน้านายของตน ท่านอิบนิ อับบ๊าส จับอูฐให้ท่านชัยดฺขึ้นขี่โดยสะดวก แล้วท่านอิบนิ อับบ๊าสก็คว้าเชือกสะพายอูฐจูงเดินออกไป ท่านชัยดฺกล่าวว่า :
        ปล่อยเชือกเถิด โอ้บุตรของลุงของท่านรอซูล
ท่านอิบนิ อับบ๊าสกล่าวว่า :
          เช่นนี้แหละที่เราถูกใช้ให้ปฎิบัติต่อผู้มีวิชาความรู้
ท่านชัยดฺจึงกล่าวว่า :
      
         ฉันขอดูมือหน่อยซิ
ท่านอิบนุ อับบ๊าส จึงยื่นมือให้ดู ท่านชัยดฺจึงคว้ามือนั้นมาจูบและกล่าวว่า :
          เช่นนี้แหละที่เราถูกใช้ให้ปฎิบัติต่อเครือญาติของท่านนบีของเรา
          ท่านอิบนิ อับบ๊าส พากเพียรพยายามหาวิชาความรู้จนกระทั่งบรรลุถึงขั้นสูงสุดขนาดที่นักวิชาการชั้นยอดก็ต้องทึ่งในความรู้ความสามารถเป็นยิ่งนัก เกี่ยวกับเรื่องนี้ ท่านมัสรู๊ก อิบนิ อัจญดะอฺ ผู้อยู่ในสมัยถัดจากยุคศอหะบะห์หรือที่เรียกว่าตาบิอีนรุ่นอาวุโส ได้กล่าวว่า  :
          เมื่อฉันเห็นท่านอิบนิ อับบ๊าส ครั้งใด ฉันต้องกล่าวว่า “นี่คือผู้ที่สง่างาม” เมื่อท่านพูดอะไรออกไปฉันต้องกล่าวว่า “นี่คือผู้ที่ชี้แจงที่ชัดเจนที่สุด” เมื่อเขาสนทนาครั้งใด ฉันต้องกล่าวว่า “นี่คือผู้มีความรู้ที่สุด”

เมื่อท่านอิบนิ อับบ๊าส ศึกษาจนกระทั่งมีความรู้แล้ว ท่านก็สอนความรู้ที่ได้รับมานั้นแก่ผู้อื่น ฉะนั้นบ้านพักของท่านจึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับมุสลิม ครับ!เป็นมหาวิทยาลัยจริงๆเหมือนกับมหาวิทยาลัยในสมัยปัจจุบันนี้ทุกประการ ที่ต่างกันก็คือ มหาวิทยาลัยในปัจจุบันต้องระดมอาจารย์ผู้บรรยายเป็นสิบๆท่าน บางแห่งจำนวนนับร้อย แต่มหาวิทยาลัยของท่านอิบนิ อับบ๊าส นั้น มีท่านอิบนิ อับบ๊าส เป็นอาจารย์เพียงผู้เดียวที่บรรยายได้ทุกวิชา ลูกศิษย์คนหนึ่งของท่านอิบนิ อับบ๊าส ได้เล่าว่า :
          เมื่อเห็นท่านอิบนิ อับบ๊าส นั่งอยู่ท่ามกลางผู้ที่มาแสวงหาวิชาความรู้กับท่านแล้ว ถ้าหากชาวกุเรชจะรู้สึกภูมิใจแล้ว มันก็เป็นสถานที่ที่น่าภูมิใจจริงๆ เพราะเห็นประชาชนแออัดอยู่เต็มซอยทางเข้าบ้านของท่านจนทำให้ซอยคับแคบ ฉันจึงเข้าไปหาท่านและบอกให้ท่านทราบว่ามีประชาชนเบียดเสียดกันเต็มหน้าบ้านแล้ว ท่านจึงกล่าวว่า :  
          ช่วยเอาน้ำมาให้หน่อยซิ
         
แล้วท่านก็อาบน้ำละหมาดเสร็จแล้วจึงนั่งลงแล้วกล่าวว่า :
     
         จงไปบอกพวกเขาว่าใครต้องการจะเรียนวิชาเกี่ยวกับการอ่านอัลกุรอานที่ถูกวิธีก็เชิญเข้ามาข้างในได้
        ศิษย์ของท่านผู้นั้นก็ออกไปบอกให้ประชาชนทราบดังกล่าว พวกเขาจึงเข้าไปในบ้านจนเต็มหมดทุกห้อง ใครมีข้อข้องใจซักถาม ท่านอิบนิ อับบ๊าส ก็ตอบให้ทราบโดยละเอียดและบอกเพิ่มเติมความรู้ให้อีก เมื่อเวลาผ่านไปโดยสมควร ท่านกล่าวว่า :

         พี่น้องที่รัก จงเปิดโอกาสให้ผู้อื่นศึกษาบ้างเถิด
บรรดาศิษย์เหล่านั้นก็ออกไป แล้วท่านอิบนิ อับบ๊าส ก็กล่าวว่า :

         จงออกไปบอกพวกเขาว่า ใครต้องการซักถามเกี่ยวกับวิชาการอรรถาธิบายอัลกุรอาน และการให้ความหมายก็จงเข้ามาข้างในเถิด
        ฉันก็ออกไปบอกประชาชนที่รออยู่ด้านนอก พวกเขาก็เข้ามาจนเต็มบ้านทุกห้อง ทุกเรื่องที่พวกเขาซักถามเพื่อหาความเข้าใจ ท่านอิบนิ อับบ๊าส ก็ตอบให้ทราบอย่างชัดเจนและบอกเพิ่มเติมเป็นความรู้ให้อีกจนกระทั่งได้เวลาอันสมควร ท่านก็กล่าวว่า  :
         พี่น้องทั้งหลาย จงเปิดโอกาสให้ผู้อื่นศึกษาบ้างเถิด
         
แล้วพวกเขาก็ออกไป ท่านก็กล่าวอีกว่า :
         ออกไปเรียกผู้ที่รอคอยอยู่ด้านนอกว่าใครจะถามเกี่ยวกับเรื่อง ฮะล้าล ฮะรอมเรื่องฟิกฮฺก็จงเข้ามาเถิด
        ฉันจึงออกไปประกาศตามนั้น ประชาชนก็เข้ามาจนเต็มบ้านหมดทุกห้องเช่นเดิม ผู้ใดถามข้อข้องใจท่านก็ตอบให้ชัดเจนและเพิ่มเติมความรู้ให้อีกด้วย เมื่อสมควรแก่เวลาท่านก็กล่าวว่า :
          พี่น้องที่รักจงเปิดโอกาสให้ผู้อื่นศึกษาหาความรู้บ้างเถิด
พวกเขาก็ออกไปด้านนอก ท่านก็กล่าวกับฉันอีกว่า :
          ออกไปบอกผู้ที่รออยู่ด้านนอกซิว่า ใครต้องการที่จะซักถามเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งมรดก หรือเกี่ยวกับทรัพย์สินก็จงเข้ามาเถิด
         ฉันก็ออกไปประกาศตามนั้น พวกเขาก็เข้ามาในบ้านจนเต็มหมดทุกห้อง ผู้ใดถามข้อข้องใจท่านก็ตอบทุกประเด็นจนกระทั่งสมควรแก่เวลาท่านก็กล่าวว่า :
          พี่น้องทั้งหลายเปิดโอกาสให้ผู้อื่นศึกษาความรู้บ้างเถิด
พวกเขาก็ออกไปท่านก็กล่าวอีกว่า :
         จงบอกผู้ที่อยู่ด้านนอกซิว่า ใครจะซักถามเกี่ยวกับหลักไวยากรณ์ภาษาอาหรับ คำโคลงกลอน คำศัพท์ในภาษาอาหรับก็จงเข้ามาได้
         ประชาชนก็เข้ามาจนเต็มบ้านหมดทุกห้อง ผู้ใดถามข้อข้องใจท่านก็ตอบ และเพิ่มเติมความรู้ให้อีก ผู้เล่าเรื่องนี้ได้กล่าวว่า :
          ถ้าหากชาวกุเรชทั้งหมดจะภูมิใจในเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นการเหมาะสมแล้ว
          ระยะต่อมา ท่านอิบนิ อับบ๊าส เห็นควรจัดตารางสอนตามวันต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาผู้คนเบียดเสียดแออัดที่หน้าบ้านเช่นนี้ที่ผ่านมา ดังนั้นท่านจึงเฉลี่ยสอนวิชาละหนึ่งวันตามลำดับกล่าวคือ วิชาตัฟซีรฟิกฮฺ และการทำศึกของท่านรอซูล โคลงกลอน หลักภาษา ดังนั้นจึงไม่มีนักวิชาการท่านใดเลยที่ไม่ได้มาศึกษาหาวิชาความรู้กับท่านอิบนิ อับบ๊าส และไม่มีปัญหาใดเลยที่มีผู้ถามท่าน นอกจากท่านต้องตอบให้ทราบชัดเจน
          และด้วยความมีวิชา มีความรู้ มีความเข้าใจ และฉลาดเฉลียว จึงทำให้ท่านกลายเป็นที่ปรึกษาของท่านคอลีฟะห์ทั้งๆที่ท่านยังมีอายุน้อยขณะที่ท่านอุมัร ประสบปัญหายุ่งยากลำบากในการตัดสินใจ ท่านจะต้องเรียกบรรดาศอหะบะห์ชั้นอาวุโสมาปรึกษาหารือด้วย และเมื่อมาถึงท่านอุมัร ให้เกียรติเข้ามานั่งใกล้ๆ แล้วท่านก็กล่าวว่า :
          เรามีปัญหาที่ต้องการแก้ไขขอให้ท่านช่วยคิดหาหนทางด้วย
          ครั้งหนึ่งท่านอุมัรเคยถูกตำหนิ เพราะนำท่านอิบนิ อับบ๊าส เข้าร่วมประชุมกับผู้อาวุโส ทั้งๆที่ยังเป็นเด็กหนุ่มเท่านั้น แต่ท่านอุมัร กล่าวว่า :
          แท้จริงเขาเป็นชายหนุ่มที่สมบูรณ์ มีลิ้นที่ชอบซักถาม สืบสวน มีสติปัญญาดี
          ท่านอิบนิ อับบ๊าส นั้น นอกจากจะสอนวิชาประจำแล้ว ท่านยังใช้เวลาอีกส่วนหนึ่งกล่าวสุนทรพจน์ตักเตือนผู้ประพฤติผิด เช่นครั้งหนึ่งท่านได้กล่าวตักเตือนว่า :
          โอ้ผู้ทำผิดเอ๋ย ท่านอย่าได้คิดว่าจะรอดพ้นจากการทรมานไปได้ จงทราบเถิดว่าการลงโทษที่จะตามมานั้น เจ็บแสบยิ่งกว่าหลายเท่านัก การที่ท่านไม่ละอายผู้ใกล้ชิดทั้งขวาและซ้าย(มะลาอิกะฮฺ)โดยที่ท่านประพฤติชั่วนั้น ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการประพฤติชั่วโดยตรง การที่ท่านหัวเราะเยาะในขณะที่ท่านกำลังประพฤติชั่ว โดยที่ท่านไม่ทราบว่า อัลเลาะห์จะจัดการลงโทษท่านอย่างไรนั้นนับว่าร้ายแรงกว่าการประพฤติชั่วโดยตรงเสียอีก การที่ท่านดีใจว่า สามารถประพฤติชั่วได้สำเร็จนั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการทำบาป การที่ท่านเสียใจเพราะหมดโอกาสทำสิ่งผิด บาปนั้นร้ายแรงกว่าการทำบาป การที่ท่านกลัวว่าลมจะพัดม่านกั้นในขณะที่ท่านกำลังกระทำความผิด ทั้งๆที่หัวใจไม่ได้คำนึงว่า อัลเลาะห์กำลังมองดูการกระทำของท่านอยู่นั้นย่อมร้ายแรงกว่าการทำบาปเสียอีก
          โอ้ผู้ที่ชอบประพฤติปฎิบัติความผิดบาปทั้งหลาย ท่านทราบไหมว่า เท่าที่อัลเลาะห์ต้องลงโทษร่างกายและทรัพย์สมบัติของท่านนบีอัยยูบนั้น เป็นเพราะความผิดบาปสถานใด?เพราะมีผู้ยากจนท่านหนึ่งมาขอความช่วยเหลือให้ป้องกันจากการคุกคามของผู้ทุจริตอธรรมแต่ท่านกลับไม่ช่วย…
          ท่านพี่น้องที่เคารพ ท่านอิบนิ อับบ๊าสนั้น ไม่ใช่ได้แต่พูด โดยไม่ปฎิบัติ หรือห้ามผู้อื่นมิให้ประพฤติผิดแต่ไม่ห้ามตนเองก็หาไม่ แต่ท่านอิบนิ อับบ๊าส เป็นผู้ถือศีลอดในยามกลางวัน และลุกขึ้นปฎิบัติละหมาดในยามค่ำคืน ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มุลัยกะห์ กล่าวว่า :
         ฉันเป็นเพื่อนสนิทของท่านอิบนิ อับบ๊าส ขณะอยู่มักกะห์และมะดีนะห์ พวกเรานั้นเมื่อพักอยู่ ณ ที่ใดก็ตาม หลังจากเที่ยงคืนแล้วต้องตื่นขึ้นละหมาดในยามที่ผู้คนหลับสนิทอันเนื่องจากความเหน็ดเหนื่อยกับการงานตลอดทั้งวัน คืนหนึ่งฉันเห็นท่านอิบนิ อับบ๊าส อ่านกุรอานมีความว่า :
         เมื่อวิกฤติการณ์แห่งความตายมาถึง สัจธรรมก็ปรากฏชัดเจน(เขาเชื่อเรื่องราวที่ท่านรอซูลนำมาบอกเช่น การฟื้นคืนชีพ การตอบแทนความดีความชั่ว ความตาย) นั่นแหละคือสิ่งที่ท่านหนีมัน (ก็อฟ อายะฮฺที่19)
          ท่านอ่านอายะห์ดังกล่าวซ้ำๆหลายครั้งหลายหน และร้องไห้สะอึกสะอื้น จนกระทั้งแสงอรุณขึ้น ตัวอย่างดังกล่าวนี้เกินพอแล้ว ที่จะทำให้เราทราบได้ว่า ท่านอิบนิ อับบ๊าส นั้นเป็นคนดี ดึกสงัดยามค่ำคืนท่านร้องไห้จนน้ำตาไหลอาบแก้มเป็นทาง เพราะความยำเกรงอัลเลาะห์
          ท่านอิบนิ อับบ๊าส ประสบความสำเร็จในด้านวิชาความรู้ ครั้งหนึ่งขณะที่ท่านคอลีฟะห์ มุอาวิยะห์ ออกเดินทางไปทำฮัจญ์ ท่านอิบนิ อับบ๊าสก็ออกเดินทางไปทำฮัจญ์เช่นกัน ท่านมุอาวิยะห์ นั้นมีขบวนทหารและข้าราชการร่วมไปด้วย แต่สำหรับขบวนของท่านอิบนิ อับบ๊าสนั้น มีลูกศิษย์ลูกหามากมายยิ่งกว่าขบวนของท่านคอลีฟะห์เสียอีก
          ตลอดอายุเจ็ดสิบเอ็ดปีของท่านอิบนิ อับบีาสนั้น เปี่ยมล้นไปด้วยวิชาความรู้ ฮิกมะห์ และความยำเกรงพระเจ้า เมื่อท่านสิ้นชีวิต ท่านมุฮัมมัด อิบนุล หะนะฟียะห์ (หรือท่านมุฮัมมัด บิน อาลี บิน อบีตอลิบ) บรรดาศอหะบะห์ที่ยังมีชีวิตอยู่ และบรรดาตาบิอีนจำนวนมากได้มาร่วมละหมาดให้ และในขณะที่กลบดินบนหลุมฝังศพนั้น ได้ยินเสียงผู้หนึ่งอ่านอายะห์ต่อไปนี้ซึ่งมีความว่า :
          โอ้ชีวิตที่ปกติสุข(แน่นแฟ้นอยู่ในอิมาน) จงกลับคืนไปสู่พระเจ้าของเจ้าในสภาพที่ปลื้มปิติต่อผลตอบแทน ที่พระองค์จะทรงมอบให้ ณ ที่พระองค์เถิด และจงเข้าไปร่วมกับบ่าวของข้า(ที่เป็นคนดี) และจงเข้าสวรรค์ของข้าพร้อมกันเถิด (อัลฟัจญรฺ 89 : 27-30)
ขออัลเลาะห์ทรงพอพระทัยท่านอับดุลลอฮ์ อิบนิ อับบ๊าส และบรรดาศอหะบะห์ทุกท่านเถิด

ที่มา :  หนังสือประวัติซอฮาบะห์       เผยแพร่โดย สายสัมพันธ์